xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวปรับค่าโดยสาร MRT สีน้ำเงินเป็น 17 บาท สูงสุด 45 บาท ตามสัญญาสัมปทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เป็น 17 บาท สูงสุด 45 บาท จากปัจจุบัน 17-43 บาท ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2567

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่ให้มีการพิจารณาปรับค่าโดยสารทุกๆ 2 ปี โดยคำนวณตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกำหนดให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารทุก 2 ปี (ระยะเวลา 24 เดือน) นับตั้งแต่เริ่มการบริการที่ก่อให้เกิดรายได้ (วันที่ 3 กรกฎาคม 2547) โดยอัตราค่าโดยสารปัจจุบันจะครบกำหนด 24 เดือน ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ประกอบกับมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพย์สิน การให้บริการและความสะดวกในกิจการรถไฟฟ้า ตลอดจนวิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร ค่าบริการและค่าธรรมเนียมดังกล่าว และกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

รฟม.จึงได้ยกร่างข้อบังคับฯ ดังกล่าว เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โดยคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริงของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) โดยใช้ตัวเลขของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ เป็นข้อมูลในการคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามสัญญา


โดยจะมีอัตราเริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท และจะมีผลบังคับใช้ 24 เดือนตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 จากปัจจุบันที่จัดเก็บอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 สูงสุด 43 บาท


ในการประชุมคณะกรรมการ รฟม. ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 มกราคม2567 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งอนุมัติหลักการให้ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบจากรถไฟฟ้าสายอื่นมายังรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2569 เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้าและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 (ครบกำหนดการบังคับใช้ตามสัญญาในวันที่ 2 กรกฎาคม2567) กระทรวงจึงได้ยกร่างข้อบังคับฯ ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล อัตราใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาทเพื่อให้การปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานครเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2567

สำหรับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน มีทั้งสิ้น 38 สถานี โดยช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ มี 18 สถานี ช่วงหัวลำโพง-บางแค มีสถานี 11 สถานี และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มี 9 สถานี


กำลังโหลดความคิดเห็น