xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสูตรปั้นสินค้าไทยสู่ซูเปอร์แบรนด์ “ทรูมันนี่”ติดท็อป5 ในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360- VML Thailand เปิดตัว BAV เครื่องมือทรงพลังเจาะอินไซด์แบรนด์ สู่ Super Brands เปิดอินไซด์แรก “Super Brands in APAC” เผย Google, Youtube, Samesung ขึ้นแท่นซูเปอร์แบรนด์ใน APAC ส่วนในไทยมี “ทรูมันนี่” ที่เป็นโลคอลแบรนด์ ติดโผท็อป 5


นางสาวปรัตถจริยา ชลายนเดชะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร VML Thailand เอเยนซี่ที่ให้บริการด้านความคิดสร้างสรรค์ ข้อมูล และเทคโนโลยีแบบครบวงจร เปิดเผยว่า เรามุ่งมั่น สร้างสรรค์นำเสนอวิธีการใหม่ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภคเพื่อตอบโจทย์ของแบรนด์และองค์กร ด้วย End-to-End Creative Solution Service เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายในยุคปัจจุบัน

ล่าสุด พร้อมนำเสนอ BAV เครื่องมืออันทรงพลังและมีความแข็งแกร่ง เพื่อเข้าใจมุมมองความรู้สึกที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์เข้าใจถึงตำแหน่งที่แท้จริงของแบรนด์เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นก่อนเข้าสู่ การพัฒนากลยุทธ์ที่แม่นยำสร้างทิศทางการแก้ปัญหาวางการสื่อสารได้อย่างทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ด้านนายเอกลักษณ์ จรัญวาศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ และ BAV APAC Champion, VML Thailand กล่าวว่า BAV หรือ Brand Asset Valuator เป็นเครื่องมือในการพัฒนากลยุทธ์เพื่อบริหารแบรนด์ลูกค้าของ VML ทั่วโลก ภายใต้การเก็บผลสำรวจและศึกษาพฤติกรรมความต้องการของผู้คนทั่วโลกมากกว่า 2.5 พันล้านคน ใช้ระยะเวลาเก็บ
ผลสำรวจมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 ถึงปัจจุบัน ในกว่า 50 ประเทศ โดยดำเนินการสำรวจในกลุ่มธุรกิจมากกว่า 1,000 กลุ่ม ทำการศึกษาวิจัยแบรนด์ทั่วโลกกว่า 60,000 แบรนด์ โดยทำการเก็บข้อมูล แบบสอบถามออนไลน์แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อสร้างกลยุทธ์ในการปั้น Super Brands ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ 2 มุมมอง คือ 1.Brand Power (Brand Asset) ซึ่งทำให้แบรนด์มีความแตกต่าง เป็นที่สนใจพิจารณา รู้สึกมั่นใจ และเป็นที่รู้จัก 2. Brand Love ซึ่งทำให้แบรนด์กลายเป็นตัวเลือกที่ผู้บริโภคชื่นชอบและ อยากแนะนำให้คนรอบตัวซื้อใช้ตาม

ล่าสุดปีนี้ VML Thailand ได้ดำเนินการวิเคราะห์ศึกษา Super Brands in APAC กับกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 18 - 65 ปี ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (APAC) ครอบคลุม 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย จำนวน 104,308 กลุ่มตัวอย่างระหว่างปี ค.ศ. 2022 – 2024 (ทำการสำรวจวิจัยเสร็จสิ้นเดือนเมษายน 2567) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประเมินพลังความแข็งแกร่งของแบรนด์ และความรักที่มีในแบรนด์ เพื่อค้นหาซูเปอร์แบรนด์ในใจคนเอเชียแปซิฟิก
โดยทำการศึกษาทั้งในกลุ่ม Global Brand และ Local Brand ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึง โอกาสที่ท้าทายในการปั้นซูเปอร์แบรนด์ เมื่อแบรนด์ระดับโลกครองเกมแต่ยังไม่ครองใจ ในขณะที่แบรนด์ท้องถิ่นใน APAC และไทยพยายามเร่งแซง


ผลสำรวจพบว่า ซูเปอร์แบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่รักในใจคน APAC ครั้งนี้พบว่า มีเพียง 3% เท่านั้นที่สามารถเป็นซูเปอร์แบรนด์ได้ โดยซุปเปอร์แบรนด์ที่มีความโดดเด่นในแทบทุกประเทศ คือ Google, YouTube, และ Samsung ในขณะที่ iPhone และ Apple เป็นแบรนด์ที่เก่งทรงพลังสูงสุดอันดับหนึ่งแต่ยังมีความท้าทายเรื่องความเป็นที่รักในใจคน APAC
ในส่วนของประเทศไทยพบว่า ซูเปอร์แบรนด์ที่ทรงพลังและเป็นที่รักในใจคนไทย 5 อันดับแรก คือ Google, YouTube, Samsung, ทรูมันนี่ และ 7-11 

ทั้งนี้เราขยายผลการวิเคราะห์ให้ครอบคลุมแบรนด์ทั้งหมดกว่า 1,200 แบรนด์ในไทยพบว่า มีเพียง 3% ของแบรนด์ในไทย ที่สามารถเป็นซูเปอร์แบรนด์ที่มีความโดดเด่น ทั้งพลังความแข็งแกร่ง และความเป็นที่รักในใจของคนไทยได้ ซึ่งซูเปอร์แบรนด์ส่วนใหญ่มากกว่า 2 ใน 3 เป็นแบรนด์ระดับโลก

แต่ผลสำรวจก็พบว่าคนไทยกำลังทวีความรู้สึกดีที่มีต่อความเป็นไทยมากขึ้นผ่านแบรนด์ประเทศไทยที่กำลังไต่อันดับขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของแบรนด์ที่คนไทยรักมากที่สุด รวมถึงแบรนด์ระดับท้องถิ่นอีกหลายร้อยแบรนด์ที่มีมีพลังความแข็งแกร่งและความเป็นที่รักเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนใกล้เคียงกับแบรนด์ระดับโลกที่เป็นผู้นำของตลาด อย่างในกลุ่มสินค้าอาหาร สุขภาพและความงาม บริการด้านการเงิน การท่องเที่ยวเดินทาง เช่น แบรนด์ Bangkok Airways, Cute Press, Roza, เทพไท เป็นต้น


นอกจากนี้ในผลสำรวจยังพบว่า คนไทย 83% ยอมจ่ายแพงมากขึ้นเพื่อสนับสนุนสินค้าของประเทศ และ 93% รู้สึกภูมิใจเมื่อเห็นแบรนด์ของไทยไปโตในตลาดต่างประเทศด้วย

สำหรับกลยุทธ์การปั้นซูเปอร์แบรนด์ สรุปได้เบื้องต้นเป็น 5 แนวทาง คือ 1.สร้างความเป็นสากล : Google, YouTube และ Samsung ประสบความสำเร็จจากการมีอยู่ทั่วโลก ซัพพอร์ทการใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่แบรนด์ขนาดใหญ่ ระดับท้องถิ่นสามารถเรียนรู้และนำมาพัฒนาเพื่อเป็นหนึ่งในซูเปอร์แบรนด์จาก APAC ที่ครองใจคนได้อย่าง ซัมซุง เป็นต้น

2.ใช้ความภาคภูมิใจในชาติเป็นแรงกระตุ้น: คนในภูมิภาคนี้มีความรักในแบรนด์ประเทศของตนเองสูง และมักจัดอันดับให้สูงกว่าแบรนด์ระดับโลก แบรนด์ท้องถิ่นควรใช้ความภาคภูมิใจนี้ในการเสริมสร้างความผูกพันในแบรนด์กับคนในประเทศ

3.สร้างพันธมิตรเพื่อความสำเร็จ : สำหรับแบรนด์ระดับโลก การสร้างพันธมิตรกับแบรนด์ท้องถิ่นเป็นกุญแจสำคัญในการเจาะตลาดที่มีความภาคภูมิใจในชาติสูง การทำงานร่วมกันนี้สามารถผสานนวัตกรรมระดับโลกกับความเข้าใจเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่นได้ และช่วยให้เกิด Win Win ที่สร้างผลดีให้กับทั้งสองแบรนด์ได้

4.ความผสานเข้ากับวัฒนธรรม :
ทั้งแบรนด์ระดับโลกและท้องถิ่นควรนำความเข้าใจทางวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสอดประสานเข้ากับการพัฒนาสินค้าบริการรวมไปถึงการทำการตลาดและการสื่อสารของแบรนด์ เช่น KFC กับการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ และเมนูรสชาติใหม่ ๆ ที่เข้ากับจริตคนไทย
 5.คุณภาพเป็นสะพานเชื่อม ในขณะที่แบรนด์ระดับโลกส่วนใหญ่มักจะมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นด้านความน่าเชื่อถือ พรีเมียม ทันสมัย มากกว่าแบรนด์ท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความโดดเด่นอีกด้านเรื่อง การซัพพอร์ทคอยช่วยเหลือ และความผูกพันทางใจกับคนในชาติที่ดี

จากผลสำรวจของ BAV ช่วยชี้ให้เห็นถึงการผสมผสานอย่างมีกลยุทธ์ระหว่างการเข้าถึงระดับโลก ความเกี่ยวข้องในท้องถิ่น และความร่วมมือที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่ความสำเร็จในการเป็นซุปเปอร์แบรนด์ชั้นนำในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้


กำลังโหลดความคิดเห็น