xs
xsm
sm
md
lg

ครีเอเตอร์ตีพุง 9 ล้านคนบูม 4.5 หมื่นล. เปิดคอนเทนต์ “รุ่ง-ร่วง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด – ติดเทรนด์แรงตลาด คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ อาวุธการตลาดที่ร้อนแรง เผยประเทศไทยมีแล้วมากถึง 9 ล้านคน ขยับขยายสูู่การทำเป็นอาขีพหลักมากขึ้น รับตลาดมูลค่ากว่า 45,000 ล้านบาท คึกคัก ส่องเทรนด์คอนเทนต์สายไหน รุุ่ง โรจน์ ร่วง


ตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ กลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงแซงทางโค้งสายงานอื่นอย่างมาก ไม่ว่าจะในระดับโลก หรือตลาดประเทศไทยเองก็ว่าได้ มีความเคลื่อนไหวในวงการคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ กันอย่างคึกคัก

ถือเป็นอาชีพที่ใครหลายคนพยายามที่จะสร้างตัวเองเข้ามาสู่วงการนี้ให้ได้ เพราะรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำที่หอมหวนเชิญชวนนั่นเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ตอกย้ำด้วยคำกล่าวของ นางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ที่ระบุว่า ปัจจุบันมีคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ประมาณ 200 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 3% จากประชากรโลก

โดยมูลค่าของตลาดคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ทั่วโลกนั้น พุ่งไปถึง 5.5 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ตลาดโลกที่เป็นผู้นำในตลาดนี้เช่น อเมริกา บราซิล และหลายประเทศในเอเชียที่มาแรงแต่่มูลค่ายังไม่มาก เนื่องจากเป็นประเทศเล็กประชากรยังน้อยกว่า

บางประเทศเป็นตลาดที่มีความน่าตื่นเต้นด้วยไม่น้อย อย่างเช่น ในตลาดประเทศฝรั่งเศส เป็นตลาดที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์เฟื่องฟูประเทศหนึ่งในยุโรป โดยแพลตฟอร์ม TikTok เพียงแพลตฟอร์มเดียว สามารถสร้างรายได้และสร้างงานให้กับคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ฝรั่งเศส ได้มากถึง 55,000 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2566) หรือแพลตฟอร์มอื่นอย่าง ยูทูบ (Youtube ) แพลตฟอร์มเดียวก็สามารถสร้างงานและสร้างรายได้ให้คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ในฝรั่งเศสได้มากถึง 26,000 ล้านบาท ในปีพ.ศ. 2564 เลยทีเดียว


*** เมืองไทยบูม มีคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ 9 ล้านคน
นางสาวสุวิตา กล่าวว่า สำหรับในประเทศไทยคาดว่ามีคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ มากถึง 9 ล้านคน ครอบคลุมตั้งแต่ในระดับ Nano - Macro - Mega Creator ทั้งที่เป็น Full-time ที่มีประมาณ 7 ล้านคน และ Part time ประมาณ 2 ล้านคน จากจำนวนประชากรไทยประมาณ 60-70 ล้านคน ซึ่งก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากพอดู ด้วยมูลค่าตลาดคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ในไทยที่สูงถึง 45,000 ล้านบาท

สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียและการใช้เวลาท่องโลกออนไลน์ของคนไทยที่มีอัตราสูงในอันดับต้นๆ ของโลก ที่ทำให้เชื่อมโยงกับการเติบโตของคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อการใช้ชีวิตกับโลกออนไลน์ของประชากรมากขึ้น ก็สามารถเข้าถึงการสื่อสารจากคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ได้มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ จึงกลายเป็นอาชีพที่ทำให้เจ้าของแบรนด์สินค้าและบริการต่าง ๆ พุ่งเป้ามองมาและให้ความสำคัญไม่น้อยในปัจจุบันนี้ ไม่ต่างจากการเป็นอีกหนึ่งสื่อในโลกการสื่อสารยุคเก่าและยุคใหม่ผสมผสานกัน จากเดิมที่การเข้ามาสู่คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ของใครหลายคนในช่วงแรกๆนั้นเป็นเพียงการทำเพื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เสริมจากอาชีพเสริม
ทว่าทุกวันนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่า คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ กลับกลายมาเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้

โดยจากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พบว่าประชากรไทยมีการอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ประมาณ 89.5% และมีช่องทางโซเชียลมีเดียมากถึง 50 ล้านคน คิดเป็น 71.5% ของประชากรทั้งหมด
การเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีของคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ มีไม่ต่ำกว่า10% เติบโตทั้งสินค้าและในแง่ของมูลค่าตลาดรวม ในแง่ของจำนวนครีเอเตอร์ และในแง่ของคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นมาอย่างหลากหลาย


*** เปิดรายได้คอนเทนต์ ครีเอเตอร์
ทั้งๆที่ในอดีตไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ยังไม่คึกคักและยังไม่สร้างปรากฎการณ์อะไรที่เด่นชัดมากนัก แต่ทุกวันนี้ สถานการณ์พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นอาวุธที่สำคัญอย่างหนึ่งแล้วที่ แบรนด์สินค้าต้องการที่จะต้องหันมาเข้าสู่ตลาดคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ บ้างแล้ว

เมื่อตลาดดูแนวโน้มดี ลองหันมาดูรายได้ของคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ กันบ้างว่าเป็นอย่างไร ทำไมผู้คนถึงอยากกระโดดเข้ามาสู่สายงานนี้ รวมทั้งผู้ที่ทำอยู่แล้่วในลักษณะอาชีพเสริมหรือพาร์ทไทม์ ก็พยายามที่จะผันมาเป็นอาชีพหลักมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระดับ ไมโคร-อินฟลูเอนเซอร์ นี้ จะเป็นระดับที่มาแรง
สำหรับ รายได้ของคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ นั้น หอมหวนเหลือเกิน ซึ่งในวงการมีการแบ่งระดับโดยดูจากยอดผู้ติดตามไว้ดังนี้
1. ระดับ นาโน-อินฟลูเอนเซอร์ (Nano-influencer) ที่มียอดผู้ติดตามจำนวน 1,000 – 10,000 คน จะมีเรทรายได้ประมาณ 3,000 - 5,000 บาท ต่อโพสต์
2. ระดับไมโคร-อินฟลูเอนเซอร์ (Micro-influencer) ที่มียอดผู้ติดตามจำนวน 10,000 – 50,000 คน จะมีเรทรายได้ประมาณ 5,000 - 10,000 บาท ต่อโพสต์
3. ระดับมิดเธียร์-อินฟลูเอนเซอร์ (Mid-tier influencer) ที่มียอดผู้ติดตามจำนวน 50,000 – 500,000 คน จะมีเรทรายได้ประมาณ 10,000 - 30,000 บาท ต่อโพสต์
4. ระดับแม็คโคร-อินฟลูเอนเซอร์ (Macro-influencer) ที่มียอดผู้ติดตามจำนวน 500,000 – 1,000,000 คน จะมีเรทรายได้ประมาณ 30,000 - 100,000 บาท ต่อโพสต์
5. ระดับเมกะ-อินฟลเอนเซอร์ (Mega-influencer) ที่มียอดผู้ติดตาม จำนวน1,000,000 คนขึ้นไป จะมีเรทรายได้ประมาณ 80,000 - 300,000 บาท ต่อโพสต์


*** คอนเทนต์ รุ่งและร่วง
นางสาวสุวิตา วิเคราะห์ให้เห็นด้วยถึงเทรนด์ของ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ในขณะนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
โดยคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ที่มาแรงในขณะนี้ หรือท็อปทรี (Top Three ) จะเป็นครีเอเตอร์ สายสุขภาพและความงาม (Health & Beauty), สายไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) และสายการเงิน (Finance) จากคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายอย่างามากในตลาด
ในทางกลับกัน คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ที่ชะลอตัวหรือเริ่มตกลงในเวลานี้ คือ สาย อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) และสายรถยนต์ (Car)

แล้วอะไรที่จะมาเป็นเทรนด์ต่อจากนี้ที่น่าจับตา เธอย้ำว่า ต้องจับตาความเคลื่อนไหวของ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์สายสำนักข่าว (News Creator) และ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ สายการศึกษา(Science & Education) และสายครอบครัว (Family)

สายสำนักข่าว เนื่องจากในปัจจุบันสำนักข่าวๆเปิดกว้างให้นักข่าวสามารถสร้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้มากขึ้น ทำให้นักข่าวหันมาทำมากขึ้น ส่วนสายวิทยาศาสตร์และการศึกษา ก็เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการข้อมูลความจริงเชิงวิทยาศาสตร์มีเหตุผลมากขึ้น ส่วน สายครอบครัวบ ก็เพื่อตอบสนองครอบครัวที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่นครอบครัวเล็กลง มีลูกน้อยลง


อีกทั้งแนวโน้มการผลิตคอนเทนต์นั้น จะเป็นคอนเทนต์ที่ ใช้เวลาไม่นานมาก สั้นๆเท่านั้น ประมาณ 1-2 นาที กำลังดี แต่ต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจน กระชับ และเข้าใจได้เป็นอย่างดี จะเน้นที่ต้องการมากขึ้น เพราะผู้บริโภคทุกวันนี้ไม่ต้องการเสพอะไรที่มันยาวนานเกินไป และที่สำคัญต้องพยายามกระจายคอนเทนต์ไปในหลายแพลตฟอร์ม อย่ายึดติดเพียงแค่แพลตฟอร์มเดียว

“ช่วงปีที่ผ่านมา ตลาดคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ต้องยอมรับว่าการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งก็เป็นผลดีสำหรับผู้ที่จะผลิตงาน ที่จะต้่องคำนึงถึงมาตรฐานและคุณภาพของงานให้มากขึ้นด้่วย” หัวเรือใหญ่ เทลสกอร์ กล่าว

แน่นอนว่า แบรนด์สินค้าทั้งหลาย ก็ต้องการคุณภาพของงานมากที่สุด เพราะต้องการหวังผลลัพธ์ในแง่บวกคือ ยอดขายและการเข้าถีงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด

ซึ่งแบรนด์สินค้าแบรนด์ต้องมองแล้วว่าเมื่อเข้าไปหาคอนเทนต์ครีเอเตอร์ใดคงไม่ได้หวังแค่สร้างยอดวิวแบบลอยๆ แต่ต้องการวัดผลในแง่ยอดขายที่จับต้องได้ด้วย จึงเป็นความท้าทาย สำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั้งหลาย

“แม้ว่าปีนี้หลายฝ่ายประเมินกันว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยอาจจะยังไม่ค่อยกระเตื้องไม่สดใสมากนัก แต่ธุรกิจก็ยังต้องทำการตลาด ซึ่งการเลือกใช้คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ยังมีความสำคัญอยู่ และที่ผ่านมาตลาดก็ขยายตัวต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันนี้นักการตลาด รวมทั้ง แบรนด์สินค้าหันมาจัดสรรงบทางด้านนี้สัดส่วน 30% ของงบประมาณการทำตลาดดิจิทัลสำหรับคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และขณะนี้เรายังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่จะทำให้ตลาดชะลอตัวลงเลย” บอสเทลสกอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ได้ง่ายๆ เพราะต้องสั่งสมประสบการณ์ สร้างงานที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ มีการครีเอทงานที่ดี ต้องพยายามสร้างยอดผู้ติดตามให้มาก

สรุปความได้ว่า กลุ่มคอนเทนต์ ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์เป็นฟันเฟืองสำคัญที่มี ความสัมพันธ์และอิทธิพลกับผู้บริโภค ประกอบกับพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ที่ชอบ รับข่าวสารและแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่ออื่นๆ ดังนั้นนักการตลาดจึงโฟกัสและให้ความสำคัญ ในการ เลือกร่วมงานกับคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


*** เทลสกอร์ ตั้งเป้าโต 30% พร้อมจัดงานใหญ่
นางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า จากแนวโน้มตลาดคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ที่ดีนี้เอง ทำให้บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมปีนี้ไว้ที่ 200 ล้านบาท เติบโต 30% จากจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ในสังกัดที่มีมากกว่า 85,000 คน จากทั้งหมด 12 สายงาน ผนวกกับความแข็งแกร่งของแพลตฟอร์ม Tellscore (www.tellscore.com)

แพลตฟอร์มดังกล่าวจะเข้ามาเติมเต็มทุกความต้องการของนักการตลาดด้านอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ทั้งระบบแบบ One-Stop-Service ตั้งแต่การคิดกลยุทธ์และสร้างสรรค์แคมเปญอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ที่อิมแพคกับกลุ่มเป้าหมาย การหาอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ที่ตรงกับความต้องการจากระบบฐานข้อมูลที่มีอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพหลายหมื่นคน บริหารจัดการให้เป็นไปตามเป้าหมายภายใต้งบประมาณที่กำหนด ตลอดจนระบบกวาดผลลัพธ์อัตโนมัติ (Performance Collection Automation) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มความแม่นยำในผลลัพธ์ รวมทั้งลดความเสี่ยงให้กับนักการตลาดที่ต้องการความรวดเร็วและคล่องตัวในยุคดิจิทัลที่มีการแข่งขันสูง มัดรวมครีเอเตอร์โซลูชั่นให้แบรนด์และเอเจนซี่ ดังนี้ Pay Per Post, Media Buy for Creator Content, Performance Marketing, Affiliated Marketing, Soft Power Content

ล่าสุด เทลสกอร์ ร่วมกับ เดอะมอลล์ กรุ๊ป จัดงาน The Mall Lifestore Presents Thailand Influencer Awards 2024 by Tellscore งานประกาศรางวัลสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์และสุดยอดอินฟลูเอนเซอร์แคมเปญที่สร้างสรรค์โดยแบรนด์และเอเจนซี่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 รวมทั้งสิ้น 59 สาขา ภายใต้แนวคิด The Future is Yours! ที่เน้นย้ำถึงศักยภาพอินฟลูเอนเซอร์และนักการตลาดที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและสร้างสรรค์อนาคตของเศรษฐกิจไทย โดยเฟ้นหาอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพ ควบคู่กับการสร้างมาตรฐานและ คอมมูนิตี้อินฟลูเอนเซอร์ของประเทศไทยให้เข้มแข็งต่อยอดสู่การยกระดับสู่สากล โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรภาครัฐและเอกชนหลายภาคส่วนที่มีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างเครือข่ายและเสริมศักยภาพวงการ อินฟลูเอนเซอร์ไทยทั้งระบบ ในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ เอ็มซีซี ฮอลล์ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ


“เทลสกอร์ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นยกระดับและสร้างเสริมมาตรฐานอินฟลูเอนเซอร์ 5 มิติซึ่งเป็นเกณฑ์การตัดสินผู้ที่ได้รับรางวัลในงานครั้งนี้ ได้แก่ รูปแบบและความคิดสร้างสรรค์ (Creativity), ลำดับและการเล่าเรื่อง (Storytelling), การเข้าถึงคนส่วนมากได้อย่างมีคุณภาพ (Impact), ตัวตน, ศักยภาพในการเติบโตและการดูแลกลุ่มผู้ฟัง (Personal Branding & Community Building) และสำนึกที่ดีต่อผู้ฟัง, สังคม และสิ่งแวดล้อม (Social Conscience) ซึ่งงานดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จและการมีส่วนร่วมของอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพในประเทศไทยแล้ว ยังแสดงถึงผลของการตกผลึกของเทลสกอร์ให้เห็นว่าคอนเทนต์ ครีเอเตอร์คือ Soft Power อันแข็งแกร่งของประเทศที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้จริงและยั่งยืน (Content Creator Economy) ในทุกอุตสาหกรรมแบบ 360 องศา ไม่ใช่เพียงเป็นเทรนด์ตามยุคสมัย แต่เป็นสื่อใหม่ที่เป็นสื่อหลักที่มีบทบาทสำคัญที่ได้รับการยอมรับ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง”
นอกจากงาน The Mall Lifestore Presents Thailand Influencer Awards 2024 by Tellscore แล้ว เทลสกอร์ยังได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์จัดทำโครงการวิจัย Foresight ในหัวข้ออนาคตเศรษฐกิจคอนเทนต์ครีเอเตอร์ พ.ศ. 2578 (Futures of Content Creators 2035) เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ รวมทั้งจัดทำแคมเปญ Influencer for Change (Help You, Help Me) โครงการที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาคสังคม เข้าร่วมนำเสนอโครงการ เพื่อรับการสนับสนุนสื่ออินฟลูเอนเซอร์คอนเทนต์ เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์โครงการของหน่วยงานภาคสังคม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยส่งแคมเปญหรือกิจกรรมรณรงค์ที่มีเป้าหมายแก้ไขปัญหาสังคมในด้านต่างๆ ผ่านกิจกรรม ‘Help You, Help Me’ ซึ่งทางเทลสกอร์ยังมองหาโอกาสและความร่วมมือในการต่อยอดแคมเปญดีๆ เพื่อพัฒนาวงการอินฟลูเอนเซอร์และสังคมต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น