xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเบื้องลึกอุโมงค์รถไฟ”ไทย-จีน”ถล่ม ปัญหาสภาพดิน เนาวรัตน์ฯจ้างช่วงผู้รับเหมาจีน ”สุรพงษ์”สั่งเช็กอีก 3 แห่งหวั่นซ้ำรอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเบื้องลึกอุโมงค์คลองไผ่บริเวณลำตะคอง รถไฟ”ไทย-จีน”ถล่ม เหตุฝนตกดินอุ้มน้ำมากไป สภาพดินพรุนเกือบจะเป็นทราย จึงมีสภาพอ่อนไหวมาก ขณะที่ บอร์ดรฟท.เพิ่งเคาะขยายเวลาก่อสร้าง สัญญา 3-2 ซึ่งบมจ.เนาวรัตน์ฯ มีการจ้างผู้รับเหมาจีนเจาะอุโมงค์ อีกต่อหนึ่ง “คมนาคม”สั่งเช็กสภาพดินอีก 3 อุโมงค์

รายงานข่าวแจ้งว่า จากเหตุอุโมงค์คลองไผ่ในโครงการรถไฟความเร็วสูง”ไทย-จีน”ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญา 3-2 (งานก่อสร้างอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง) เกิดการถล่มทรุดตัว ระหว่างก่อสร้าง ทำให้คนงานก่อสร้าง ติดอยู่ภายใน ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลาประมาณ 23.00 น ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุ อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำผนังอุโมงค์ มีความยาวประมาณ 10 – 30 เมตร ในขณะเกิดเหตุอยู่ระหว่างการปฏิบัติงานทำผนังอุโมงค์ คาดว่าเพราะมีฝนตกก่อนหน้า ทำให้ดินอุ้มน้ำมากไปจนถล่ม ประกอบบริเวณก่อสร้างเป็นหินปูนและมีดินสภาพพรุนเกือบจะเป็นทราย จึงมีสภาพอ่อนไหวมาก

เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้ปฏิบัติงานติดอยู่ภายในอุโมงค์ จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1.หูเสียงหมิ่น เพศชาย สัญชาติจีน (ผู้ควบคุมงาน) 2.ตงชิ่นหลิน เพศชาย สัญชาติจีน (ขับแม็คโคร) และ 3.แรงงานชาวพม่า ไม่ทราบชื่อ (ผู้ขับรถบรรทุก) ซึ่งทีมกู้ภัย และการรถไฟฯกำลังเร่งช่วยเหลือ


สำหรับ งานสัญญา 3-2 (งานก่อสร้างอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง) ระยะทาง 12.23 กม. วงเงินสัญญา 4,279 ล้านบาท มี บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง ระยะเวลาสัญญา 1,080 วัน เดิมสัญญาสิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 2567 แต่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 ในการขยายเวลาก่อสร้างออกไป อีก 431 วัน รวม ระยะเวลาก่อสร้างเป็น 1,511 วัน เนื่องจากการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างล่าช้าในส่วนของอุโมงค์คลองไผ่ บริเวณลำตะคอง ทำให้มีการขยายสัญญาก่อสร้าง ไปสิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. 2568 โดยงานก่อสร้าง ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มีความคืบหน้าที่ 74.06% (แผนงาน กำหนดที่ 69.880% เหรือล่าช้าประมาณ 4.180% )

ซึ่งงานรถไฟไทย-จีน สัญญาที่ 3-2 นี้ เป็นช่วงที่ต้องก่อสร้างอุโมงค์ จำนวน 4 อุโมงค์ ได้แก่ 1. อุโมงค์คลองไผ่บริเวณลำตะคอง ซึ่งมีความยาวมากที่สุด 4.25 กม. 2. อุโมงค์มวกเหล็ก 3. อุโมงค์ผาเสด็จ 4. อุโมงค์หินลับ ที่ผ่านมาได้ทยอยส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง โดยอุโมงค์คลองไผ่เป็นพื้นที่สุดท้ายที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจากกรมป่าไม้ในการให้ใช้พื้นที่ โดยทั้ง 4 อุโมงค์ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง


รายงานข่าวแจ้งว่า สัญญา 3-2 มีบริษัทจีนเข้าร่วมทำงานเจาะอุโมงค์ในฐานะผู้รับเหมาช่วง ของ บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ ซึ่งในหลักการสามารถจ้างผู้รับเหมาช่วงได้ โดยแจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบ ขณะที่ ใน สัญญา 4-3 งานโยธาช่วง นวนคร -บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525 ล้านบาท ที่มีกิจการร่วมค้า CAN เป็นผู้รับจ้างนั้น เป็นการร่วมมือกัน ของ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่นฯ, บจ.เอ.เอส.แอส โซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964)

ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญานั้น ขณะนี้งานโยธาแล้วเสร็จไปเพียง 2 สัญญา อีก 10 สัญญาอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และยังรอการลงนามอีก 2 สัญญา ภาพรวมมีความคืบหน้า34.973 % ล่าช้า 36.325% (แผนงาน 71.368%)


@"สุรพงษ์" ลงพื้นที่ เผยสาเหตุ ดินด้านบนอุโมงค์อุ้มน้ำฝนปริมาณมาก จนถล่ม

ด้าน นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้ากรณีดินถล่มในอุโมงค์คลองไผ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 26 สิงหาคม 2567 ว่า สัญญา 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง โดยมี บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้รับจ้าง จุดเกิดดเหตุดินถล่มอยู่ภายในอุโมงค์คลองไผ่ บริเวณกิโลเมตรที่ 189+435 ห่างจากปากอุโมงค์ฝั่งคลองไผ่ประมาณ 1.6 กิโลเมตร

คาดสาเหตุเบื้องต้น ว่า ช่วงก่อนวันเกิดเหตุมีฝนตกต่อเนื่อง จึงมีน้ำซึมเข้าสู่ชั้นดินบริเวณด้านบนของอุโมงค์ เมื่อดินอุ้มน้ำมีปริมาณน้ำมาก ในขณะที่มีคอนกรีตด้านบนบางส่วน แต่ยังไม่ได้ดำเนินการดาดเต็มวงรอบของผนังอุโมงค์ให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ดินที่มีน้ำหนักมากดังกล่าวถล่มลงมาทับรถบรรทุก และยานพาหนะที่เข้าไปปฏิบัติงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ชาวจีน 2 คนและชาวเมียนมาร์ 1 คน ติดอยู่ภายในอุโมงค์ ซึ่งที่ผ่านมา


สำหรับการกู้ภัย ปัจจุบันได้ดำเนินการดันท่อเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.20 เมตร ยาวท่อนละ 6 เมตรเข้าไปแล้ว 2 ท่อนและอยู่ระหว่างดำเนินการท่อที่สาม จะได้ความยาว 18 เมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเครื่องจักรกลที่มีประสิทธิภาพสูงมาดันท่อเหล็กดังกล่าวเพิ่ม และดำเนินการดันท่อขนาดเล็กที่มีอุปกรณ์ตรวจจับตำแหน่ง เพื่อค้นหาตำแหน่งผู้ที่ติดค้างภายในอุโมงค์ โดยคาดว่าจะดำเนินการครบ 5-6 ท่อนภายในคืนนี้ เพื่อเพิ่มอากาศในอุโมงค์ พร้อมทั้งช่วยเหลือและค้นหาผู้ที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์ ควบคู่กับการใช้เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ และสุนัข K-9 ช่วยค้นหาผู้ประสบภัย

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ได้ให้กรมราง และการรถไฟฯ เร่งหาสาเหตุที่แท้จริง เร่งดำเนินการตักดินที่ถล่ม และเร่งค้นหาผู้สูญหายอย่างเต็มความสามารถ และเพื่อป้องกันการสูญเสียซ้ำซ้อน และได้กำชับให้ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟทุกแห่งให้มีความปลอดภัยสูงสุดด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในพื้นที่อาจมีฝนตกเพิ่มเติม จึงมอบหมายให้ รฟท. พิจารณาขุดร่องน้ำบริเวณข้าง ๆ อุโมงค์ พร้อมทั้งนำผ้าใบมาปกคลุมหลังอุโมงค์คลองไผ่ดังกล่าว เพื่อลดปริมาณน้ำซึมเข้าสู่ดินเพิ่มเติม ที่อาจส่งผลให้เกิดดินถล่มเพิ่มเติมอีกได้




กำลังโหลดความคิดเห็น