xs
xsm
sm
md
lg

จ่อทุ่ม 3.41 แสนล้านสร้างรถไฟ’ไทย-จีน’เฟส 2 รฟท.ควัก 125 ล้านออกแบบสะพานข้ามโขงแห่งใหม่“หนองคาย-เวียงจันทน์”เชื่อมโครงข่าย”ไทย-ลาว-จีน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รถไฟเชื่อม 3 ประเทศ”ไทย-ลาว-จีน”เป้าหมายที่อาจจะไม่ไกลเกินรอแล้ว หลังการรถไฟฯเปิดเดินรถไฟเชื่อม"ไทย-สปป.ลาว"เส้นทาง"กรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)" บนรางขนาด 1 เมตร ซึ่งประชาชนของทั้ง 2 ประเทศให้การตอบรับดีมาก ขณะที่การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของไทย เฟส 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา ยังคงเป้าหมายเปิดบริการปี 2571 ส่วนเฟส 2 นครราชสีมา-หนองคาย มูลค่ากว่า 3.41 แสนล้านบาท เตรียมเสนอขออนุมัติโครงการ แต่หัวใจสำคัญที่จะเชื่อมประเทศจาก”หนองคาย-เวียงจันทน์” คือสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ต้องสร้างเสร็จปี 2573 พร้อมกับเฟส 2 เพื่อการเดินทางที่ไร้รอยต่ออย่างแท้จริง

หลังจากที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดเดินรถไฟข้ามแดน ระหว่างไทย - สปป.ลาว เส้นทางกรุงเทพ (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) -สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เที่ยวปฐมฤกษ์ อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567 ใช้เวลาชั่วข้ามคืนก็ถึงสถานีรถไฟเวียงจันทน์ ค่าโดยสารแค่หลักร้อย เดินทางสะดวกเพียงลงจากขบวนรถมาตรวจเอกสารผ่านแดนขาออกที่หนองคาย และตรวจเอกสารอีกครั้งตอนขาเข้าที่เวียงจันทน์ เท่านั้น จึงมีประชาชนสองประเทศแห่จองตั๋วกันแน่น โดยเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ โดยนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว เป็น 1 ใน 5 ของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีอัตราการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศสูงสุด คาดจะมีนักท่องเที่ยวใช้บริการรถไฟเส้นทางนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 2 แสนคน สร้างรายได้มากกว่าปีละ 67 ล้านบาท


@เปิดที่มา สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (หนองคาย-เวียงจันทน์)

ปัจจุบันรถไฟเชื่อมระหว่างไทย-สปป.ลาวนั้น มีการขยายเส้นทางเพิ่มเติม จากช่วงหนองคาย ที่เดิมสิ้นสุดที่ ท่านาแล้ง ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เข้าไปที่ สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ระยะทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร โดยเป็นทางรถไฟขนาดทางกว้าง 1.00 เมตร (Meter Gauge) เมตร ซึ่งฝ่ายไทยได้ให้ความช่วยเหลือฝ่าย สปป.ลาว ในการก่อสร้างทางรถไฟจนแล้วเสร็จ

แต่นั่นเป็นการเดินรถไฟบน สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 มีอายุถึง 30 ปี เป็นสะพาน ที่มีทางรถยนต์ 2 ช่องจราจร และมีรางรถไฟกว้าง 1 เมตร ใช้งานร่วมกัน ดังนั้นเมื่อรถไฟจะวิ่งผ่านสะพานจะต้องปิดกั้นรถยนต์ให้รอ และในอนาคตเมื่อมีรถไฟความเร็วสูงช่วงที่ 2 นครราชสีมา-หนองคายมาถึง สะพานเดิมไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน

จึงเป็นสาเหตุที่ต้องมี โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ซึ่งจะเป็นส่วนที่จะเชื่อมต่อ รถไฟความเร็วสูงจากสถานีหนองคาย-สถานีเวียงจันทน์ใต้ โดยจะเป็นการก่อสร้างสะพานรถไฟขนาดทางมาตรฐานกว้าง 1.435 เมตร(standard gauge) จำนวน 1 คู่ เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง และทางขนาด 1 เมตรจำนวน 1 คู่ เพื่อรองรับรถไฟปัจจุบัน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการสัญจรและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างทั้งสองรัฐบาล ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านคมนาคม และการประชุม 3 ฝ่าย ไทย – ลาว – จีน ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่เมื่อ วันที่ 1 มี.ค. 2562 ที่ได้ร่วมลงนามข้อตกลงเห็นชอบก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 2 โดยสะพานแห่งใหม่นี้ จะตั้งอยู่ทางด้านขวาของสะพานเดิมหรือท้ายน้ำ ห่างจากสะพานเดิม 30 เมตร


เพราะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขง แรกเริ่มกระทรวงคมนาคม จึงมอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการศึกษารูปแบบการพัฒนาสะพานแห่งใหม่ ซึ่งได้สรุปผลการศึกษาแนวเส้นทางโครงการ ประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่

1. แนวเส้นทางถนน เชื่อมต่อระหว่างด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 และด่านพรมแดนสปป.ลาว 2. แนวเส้นทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร จำนวน 1 คู่ เริ่มจากสถานีหนองคายเชื่อมต่อกับสถานีท่านาแล้ง 3. แนวเส้นทางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 1 คู่ เริ่มจากสถานีหนองคาย เชื่อมต่อสถานีเวียงจันทน์า ระยะทางประมาณ 16 กม. ล่าสุดได้ปรับแบบ ตัดส่วนแนวเส้นทางถนนออกเหลือสะพานรถไฟอย่างเดียว

ปัจจุบัน รฟท. ได้ตั้งงบประมาณ วงเงิน 125 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 25 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 100 ล้านบาท) ดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมลงนามสัญญาจัดจ้าง โดยการออกแบบรายละเอียด ใช้ระยะเวลา 12 เดือน ( ปี67 – 68) พิจารณารายงาน EIA ระยะเวลา 18 เดือน (ปี 68-69) ขออนุมัติโครงการปี 69 เวนคืนที่ดิน ปี 69-71 ประกวดราคาก่อสร้าง ปี 69-70 ก่อสร้าง และติดตั้งระบบ 36 เดือน (ปี 70-73)

โดยฝ่ายไทยได้ขอให้ สปป.ลาว พิจารณาอำนวยความสะดวกในการสำรวจและเก็บข้อมูลในพื้นที่ฝั่งลาว เพื่อให้การศึกษาโครงการเป็นไปอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ ส่วนการก่อสร้างเป็นไปตามข้อตกลงไทย-ลาว ฝ่ายละครึ่ง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2572 จะทำให้รถไฟความเร็วสูงจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ -นครราชสีมา-หนองคาย-เวียงจันทน์

@ปัญหาเดิมแก้ไม่จบ! “ไฮสปีดเฟส 1“สร้างดีเลย์ 34.689 %

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร มีงานโยธาจาก 14 สัญญา ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา ยังไม่เริ่มก่อสร้าง 2 สัญญา โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาได้ทั้งหมด 14 สัญญา ภายในปี 2567
ผลงานภาพรวมงานโยธา ณ เดือน มิ.ย.2567 คืบหน้า 34.216 % ล่าช้า 34.689 %(แผนงาน 68.905 %)

โครงการได้รับผลกระทบจาก Covid 19 ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน การก่อสร้างล่าช้าถึงปัจจุบัน การเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ประกอบกับการเข้าพื้นที่ล่าช้า โดยประกาศใช้ พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน เมื่อ วันที่ 23 ส.ค. 2565 ปัจจุบันเข้าพื้นที่ได้แล้วประมาณ 85%

และยังเหลือสัญญาที่ยังไม่ได้ลงนาม/ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง คือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. เป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) อยู่ระหว่างแก้ไขสัญญา และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 10,325 ล้านบาท เนื่องจากมีประเด็นผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก ที่อยู่ระหว่างประสานกับยูเนสโก และประชาชน ในพื้นที่ ต. กุดจิก ต. บ้านใหม่ ต.หนองประแซง จ.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ในสัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. เรียกร้องให้ปรับจากทางวิ่งระดับดินเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 7.85 กม.ซึ่งมีค่าก่อสร้างเพิ่มกว่า 4.79 พันล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างเพิ่มอีกประมาณ 2 ปี


@ดันเฟส 2 ชงครม.ประมูลก่อสร้างงานโยธากว่า 2.35 แสนล้านบาท ภายในปีนี้

ส่วน โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. ค่าลงทุนทั้งสิ้น 341,351.42 ล้านบาท โดยแบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ 1. งานรถไฟความเร็วสูง วงเงิน 335,665.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 10,310.10 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 235,129.40 ล้านบาท, ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 30,663.75 ล้านบาท, ค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 29,007.08 ล้านบาท, ค่าจัดหาขบวนรถไฟ วงเงิน17,874.35 ล้านบาท, ค่าจัดหาขบวนรถซ่อมบำรุงทาง วงเงิน 2,620.43 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 6,466.06 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟวงเงิน 2,792.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 801.66 ล้านบาท

2. งานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 2,108.51 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 2,325.46 ล้านบาท, ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 418.76 ล้านบาท, ค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 89.44 ล้านบาท, ค่าเครื่องมือ/อุปกรณ์ยกขนในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 429.24 ล้านบาท, ค่าจัดหารถจักรในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 210.00 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 63.95 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 29.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 11.47 ล้านบาท

ปัจจุบันได้ออกแบบงานโยธาแล้วเสร็จ รฟท.เสนอบอร์ดอนุมัติ วันที่ 25 ก.ค. 67 และจะเสนอครม.ในปี 67 ใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 48 เดือน (หรือ 4 ปี) ก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า 66 เดือน กำหนดเปิดให้บริการปี 2574


ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า หลักการดินรถไฟ ระหว่างไทย – ลาว หลังมีการก่อสร้างสะพานสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (หนองคาย-เวียงจันทน์) แล้ว บนสะพานจะมีทางรถไฟ 2 ขนาด คือ รถไฟรางขนาด 1 เมตร ซึ่งจะเป็นรถไฟปัจจุบันวิ่งจากสถานีหนองคายข้ามมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 เข้าสู่สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ส่วนรถไฟความเร็วสูง รางขนาด 1.435 เมตร จากสถานีหนองคายมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 แล้วจะแยกไป ยังสถานีรถไฟความเร็งสูงเวียงจันทน์ใต้ ของรถไฟลาว-จีน ที่อยู่ห่างจากสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ประมาณ 12 กม.

นอกจากการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นแล้ว จะมีการขนส่งสินค้าผ่าน สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 เพิ่มขึ้นเช่นกัน ปัจจุบัน จุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟไทย-ลาว และรถไฟลาว-จีน ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือห่างจากสถานีท่านาแล้งประมาณ 2.5 กิโลเมตร โดยเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างทางรถไฟขนาดกว้าง 1 เมตร มี 2 ทาง ทางนอกยาว 700 เมตร และทางในที่ติดกับลานยกขน ยาว 350 เมตร ส่วนทางรถไฟขนาดกว้าง 1.435 เมตร มี 1 ทาง ยาวไปเชื่อมกับสถานีเวียงจันทน์ใต้ (สถานีสำหรับขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ) มีรถยกตู้คอนเทนเนอร์ในการยกเปลี่ยนลงแคร่รถไฟ

วันนี้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ที่สร้างขึ้นมารองรับเฉพาะรถไฟ ซึ่งจะทำให้รถไฟไทย-จีน สามารถวิ่งข้ามแดนไปได้อย่างไร้รอยต่อ..แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า รถไฟความเร็วสูงของไทยนั้น มีความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. เป็นระบบทางคู่ ใช้ขนส่งคน และไทยยังมีรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร ที่ใช้สำหรับโดยสารและขนส่งสินค้าด้วยกันอีก ขณะที่รถไฟลาว-จีน มีความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม.ขนาดราง 1.435 เมตร และเป็นระบบทางเดี่ยว ใช้ขนส่งทั้งคนและสินค้า ดังนั้นการจะให้ไฮสปีดไทย วิ่งทะลุ สปป.ลาวไปถึงจีนแบบรวดเดียว ไม่ง่าย…และมีประเด็นที่ 3 ประเทศ ยังต้องมาพิจารณาร่วมกันอีกมาก!!!




กำลังโหลดความคิดเห็น