xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดรฟท.ไฟเขียวชงครม.ขอกู้ 1.8 หมื่นล้านบาทเสริมสภาพคล่องปี 68 หวั่นเงินขาดมือกระทบบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.ยังวิกฤติ บอร์ดรฟท.เห็นชอบกู้เงิน 1.8 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่องปี 2568 หลังคาดการณ์รายรับ ต่ำกว่ารายจ่าย หวั่นขาดกระแสเงินสดกระทบบริการ เร่งเสนอคมนาคม ชงครม.แผนเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ยังทำไม่ได้ตามเป้าหมาย

 
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้ รฟท.กู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน (กรณีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับรายจ่าย) ของ รฟท.ประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 18,000 ล้านบาท เนื่องจาก การจัดทำประมาณปี 2568 พบว่าจะขาดกระแสเงินสด และผลประกอบการไม่เพียงพอกับรายจ่าย จากประมาณการกระแสเงินสด ปีงบประมาณ 2568 คาดว่าจะมีเงินสดรับจำนวน 39,856.10 9 ล้านบาท เงินสดจ่ายจำนวน 57,956.109 ล้านบาท จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดย หลังจากนี้จะเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
 
ทั้งนี้ประมาณการปี 2568 คาดว่าจะมีรายรับรวมจำนวน 10,881.35 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้การโดยสารจำนวน 3,351.90 ล้านบาท รายได้การสินค้า จำนวน 2,473.96 ล้านบาท รายได้จากการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง จำนวน 229.94 ล้านบาท รายได้จากการบริหารทรัพย์สิน จำนวน 3,794.93 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมการดำเนินงาน ICD ที่ลาดกระบัง จำนวน 499.81 ล้านบาท รายได้จากการดำเนินงานอื่น จำนวน 530.78 ล้านบาท
 
 
ประมาณการค่าใช้จ่ายรวม 23,541.35 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายบำรุงทางอาณัติสัญญาณ และสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 2,795.48 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าสายสีแดง จำนวน 1,290.31 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษารถจักร และล้อเลื่อน จำนวน 3,525.68 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินรถขนส่ง จำนวน 8,300.95 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร จำนวน 1,662.93 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญ จำนวน 5,965.96 ล้านบาท และมีภาระในการชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายเงินกู้ จำนวน 6,293.22 ล้านบาท
 
 
ซึ่งทาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง จะให้ความเห็นต่อ ครม.พิจารณา โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้เงิน รวมทั้ง พิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม พร้อมทั้งขอยกเว้นการคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเงินกู้ให้แก่การรถไฟฯ ต่อไป ซึ่งปัจจุบัน รฟท.มีภาระหนี้สินสะสมประมาณ 200,000 ล้านบาท  
 
รายงานข่าวระบุว่า แม้รายได้ด้านขนส่งผู้โดยสาร ทั้งเส้นทางปกติและเส้นทางท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มากนัก เนื่องจากรถไฟยังมีปัญหา รถจักรและรถโดยสารมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ประกอบกับต้นทุนค่าใช้จ่าย ทั้งต้นทุนเชื้อเพลิงและต้นทุนในด้านการให้บริการ การซ่อมบำรุงเส้นทางและขบวนรถต่างๆยังสูง เพราะรถส่วนใหญ่มีสภาพเก่า


กำลังโหลดความคิดเห็น