xs
xsm
sm
md
lg

ทล.กางแผน 20 ปี พัฒนาโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง 80 แห่งทั่วประเทศ แก้รถติดรองรับชุมชนขยายตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวง สรุปผลการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางเลี่ยงเมืองระยะ 20 ปีจำนวน 80 แห่งทั่วประเทศ แก้ปัญหาจราจรบริเวณเขตเมืองในภูมิภาคที่มีการขยายตัวของชุมชนอย่างต่อเนื่องแบ่ง 3 ระยะ เร่งด่วน 19 เมือง เริ่มดำเนินการในปี 75

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำนักแผนงาน กรมทางหลวง ได้จัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณเขตเมืองในภูมิภาค โดยมีหน่วยงานภายในของกรมทางหลวง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนผู้ที่สนใจ และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสรุปผลการดำเนินงาน การจัดทำแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมือง การจัดทำแบบจำลองการจราจร และการแสดงผลการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ รวมทั้ง รับฟังประเด็นปัญหา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อโครงการ

สำหรับกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาทางเลี่ยงเมือง ได้ดำเนินการคัดเลือกพื้นที่เมืองในระดับอำเภอ จากจำนวน 878 อำเภอทั่วประเทศ ครอบคุลม 77 จังหวัดของประเทศไทย ให้ได้เมืองที่มีความจำเป็นและศักยภาพการพัฒนา ทางเลี่ยงเมือง จำนวน 50 เมือง เช่น ทางเลี่ยงเมืองอำเภอเมืองลำพูน จ.ลำพูน ทางเลี่ยงเมืองอำเภอนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ทางเลี่ยงเมืองตราด จ.ตราด ทางเลี่ยงเมืองอำเภอพังงา จ.พังงา ทางเลี่ยงเมืองยโสธร จ.ยโสธร เป็นต้น จากนั้นได้นำมารวมกับทางเลี่ยงเมืองที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 30 เมือง เช่น ทางเลี่ยงเมืองอำเภอลพบุรี จ.ลพบุรี ทางเลี่ยงเมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ทางเลี่ยงเมืองเลย จ.เลย ทางเลี่ยง เมืองน่าน จ.น่าน ทางเลี่ยงเมืองยะลา จ.ยะลา เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 80 เมือง


ทั้งนี้ เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญและจัดทำเป็นแผนพัฒนาโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง ระยะ 20 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ แผนการพัฒนาระยะสั้น เริ่มดำเนินการภายใน พ.ศ.2575 จำนวน 19 เมือง แผนการพัฒนาระยะกลาง เริ่มดำเนินการภายใน พ.ศ.2580 จำนวน 15 เมือง แผนการพัฒนาระยะยาว เริ่มดำเนินการภายใน พ.ศ.2590 จำนวน 30 เมือง และทางเลี่ยงที่ควรจัดอยู่ในแผนการพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ.2591 จำนวน 16 เมือง


ปัจจุบันการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนและเขตเมืองได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาคของประเทศทำให้พื้นที่ต่างๆ มีการเจริญเติบโต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การค้าและการขนส่ง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัย ส่งผลให้โครงข่ายทางหลวงในปัจจุบันที่มีระยะทางกว่า 53,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ ต้องรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบางเส้นทางไม่สามารถก่อสร้างเพิ่มช่องจราจรได้อีก ทำให้ผู้ใช้ทางประสบปัญหาการจราจรติดขัดไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง กรมทางหลวงจึงมีความจำเป็นในการศึกษาพิจารณาวางแผนพัฒนาโครงข่ายทางเลี่ยงเมืองในพื้นที่ชุมชนและเขตเมืองหลักๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตของปริมาณการจราจรที่สูง เพื่อแยกปริมาณการจราจรที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางผ่านพื้นที่เมืองออกมา การก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเป็นการช่วยลดผลกระทบด้านการจราจรที่ติดขัดในเขตเมืองและช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่รอบนอกได้อีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น