xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิ่งฉิว 8 เลน! ทล.3 สายพัทยา-อ.สัตหีบ กว่า 22 กม.แก้รถติดเชื่อมท่องเที่ยว-ขนส่ง พื้นที่ EEC รับเมืองการบินในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวงขยาย ทล.3 สายพัทยา-อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กว่า 22 กม.เป็น 8 ช่องจราจรเสร็จและเปิดใช้แล้ว แก้รถติดถนนสายหลักที่มีรถกว่า 2.8 หมื่นคัน/วัน เชื่อมแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนตามแนวเลียบชายฝั่ง และนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ EEC และรองรับ "อู่ตะเภาเมืองการบิน"

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 สายพัทยา-อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระหว่าง กม.ที่ 153+200 ถึง กม.ที่ 175+442 ระยะทาง 22.242 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 2,945,360,900 บาท แล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการแล้ว ช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นบนทางหลวง รองรับปริมาณการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงการสัญจรในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เนื่องจากทางหลวงสายดังกล่าวมีปริมาณการจราจร 28,322 คัน/วัน เป็นเส้นทางสำคัญเชื่อมต่อระหว่างแหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม ชุมชนเมืองพักอาศัยตามแนวเลียบชายฝั่ง รวมทั้งรองรับการเปิดให้บริการของท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาโครงข่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของทางหลวงเพื่อเพิ่มความคล่องตัว (mobility) ให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางอย่างสูงสุด


สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 สายพัทยา-อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีลักษณะการก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษเดิม 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) เป็น 8 ช่องจราจร (ไป-กลับ ข้างละ 4 ช่องจราจร) ผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยแบริเออร์คอนกรีต ก่อสร้างสะพานคอนกรีตสะพาน overpass รูปแบบ segment ที่ กม.169+169 (แยกเจ) มีความยาว 320 เมตร และที่ กม.172+055 (แยกเตาถ่าน) มีความยาว 360 เมตร พร้อมทั้งก่อสร้างสะพานกลับรถและสะพานลอย รวมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายเตือน ป้ายจราจรต่างๆ


การขยายถนนสายดังกล่าวจาก 4 ช่องจราจรเป็น 8 ช่องจราจร สามารถบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการตัดกระแสจราจร และเพิ่มความคล่องตัวในการสัญจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับถนนปลอดภัยและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สนับสนุนระบบโลจิสติกส์และระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ นับเป็นการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล






กำลังโหลดความคิดเห็น