xs
xsm
sm
md
lg

CAAT ปลุกชีพ “นางสาวสยาม” เครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย ที่ระลึกส่งต่อประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



CAAT ปลุกชีพ “นางสาวสยาม” เครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย จัดทำเครื่องบินจำลองเพื่อมอบเป็นของที่ระลึกให้แก่บุคคลหรือองค์กรสำคัญทั่วโลก ส่งต่อประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าให้คนรุ่นหลังร่วมรำลึก

วันนี้ (19 มิ.ย. 2567) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT จัดพิธีมอบเครื่องบินจำลอง “นางสาวสยาม” ณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ โดยมี พลอากาศเอก ณรงค์ อินทชาติ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ นาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายเลิศชาย พงษ์โสภณ ทายาทนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT กล่าวว่า CAAT ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล ส่งเสริม พัฒนากิจการการบินพลเรือนให้มีประสิทธิภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา CAAT มีโอกาสเข้าร่วมประชุม สร้างความร่วมมือกับองค์กรด้านการบินที่สำคัญทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น CAAT จึงจัดทำของที่ระลึกเพื่อมอบให้หน่วยงานต่างๆ ในฐานะผู้แทนด้านการบินของประเทศไทย


ด้วยประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของเครื่องบิน “นางสาวสยาม” เครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย CAAT จึงขออนุญาต นาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาและฟื้นฟูเครื่องบินนางสาวสยาม จัดทำเครื่องบินจำลองนางสาวสยาม ขนาดลำตัว 40 เซนติเมตร และ 20 เซนติเมตร เพื่อเป็นของที่ระลึกเชิงสัญลักษณ์ของการบินพลเรือนไทย โดยมุ่งหวังให้ประวัติศาสตร์ของเครื่องบินนางสาวสยามยังคงอยู่ในความทรงจำและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนสืบต่อไป

“นางสาวสยาม” เป็นเครื่องบินส่วนตัวของ นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ อดีตนักเรียนทุนส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ที่เดินทางไปศึกษาวิทยาการด้านการบิน ณ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ด้วยความสามารถที่โดดเด่นด้านการบิน นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ได้รับจ้างแสดงเครื่องบินผาดโผนจนเป็นที่โด่งดังในสหรัฐอเมริกา รายได้จากการเดินสายไปแสดงในรัฐต่างๆ กว่า 30 รัฐ ทำให้นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ สามารถซื้อเครื่องบินส่วนตัวได้ 1 ลำ ในราคา 6,000 บาท พร้อมตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า “นางสาวสยาม”


“นางสาวสยาม” เป็นเครื่องบินรุ่น OX-5 travel Air 2000 ถือเป็นเครื่องบินรุ่นแรกที่ได้รับการรับรองจากกรมการบินของสหรัฐอเมริกาให้สามารถใช้รับส่งผู้โดยสารได้ และมีเพียง 3 ลำในโลก ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ได้บินเดี่ยวด้วยเครื่องบิน “นางสาวสยาม” มุ่งหน้าทำภารกิจเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน การเดินทางท่ามกลางสงครามทางการเมืองในครั้งนั้นต้องผ่านอุปสรรคทั้งเสี่ยงเป็นและเสี่ยงตาย แต่ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ สามารถทำภารกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้สำเร็จภายในเวลา 17 วัน

วันที่ 19 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็นวันครบรอบภารกิจ “The wings of friendship” หรือ “ปีกแห่งมิตรภาพ” ที่นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องบินนางสาวสยามและเป็นผู้บุกเบิกการบินพลเรือนของประเทศไทย บินเดี่ยวจากประเทศไทยเพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 92 ดังนั้น CAAT จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของการบินพลเรือน โดยภายในงานมีพิธีมอบเครื่องบินจำลอง นางสาวสยาม เพื่อเป็นเกียรติแก่ทายาทและครอบครัวของนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาเครื่องบินนางสาวสยามและเป็นผู้อนุญาตให้ CAAT นำต้นแบบเครื่องบินมาจัดทำเป็นของที่ระลึก รวมทั้งมอบให้กองทัพอากาศ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสื่อสารเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอากาศยานไทยแก่สาธารณชน


นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “ย้อนรอยประวัติศาสตร์เครื่องบินนางสาวสยาม” เพื่อร่วมถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงคุณค่าของ “เครื่องบินนางสาวสยาม” ผ่านการพูดคุยกับผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง ได้แก่ นายเลิศชาย พงษ์โสภณ ทายาทที่ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตอันโลดโผนของนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ผู้เป็นบิดา จนได้รับฉายาว่า “เลื่อน กระดูกเหล็ก” ส่วนนาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจและความท้าทายในการอนุรักษ์และฟื้นคืนชีวิตให้เครื่องบินนางสาวสยามกลับมาโบยบินสู่ท้องฟ้าอีกครั้ง

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า CAAT ในฐานะหน่วยงานด้านการบินพลเรือน มุ่งสานต่อเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์และสืบสานคุณค่าของเครื่องบินนางสาวสยาม ด้วยการจัดทำเครื่องบินจำลองนางสาวสยามเพื่อมอบเป็นของที่ระลึกให้แก่บุคคลหรือองค์กรสำคัญทั่วโลก ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ที่ผ่านมา CAAT ได้มอบเครื่องบินจำลองนางสาวสยามให้กับบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ Mr. Han Kok Juan ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนสาธารณรัฐสิงคโปร์ หรือ CAAS ซึ่ง CAAT มีเป้าหมายให้เครื่องบินจำลองนางสาวสยามทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธไมตรีกับหน่วยงานด้านการบินต่างๆ ทั่วโลกตามเจตนารมณ์เดิมให้คงอยู่ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น