xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ส่งต่อ "เครื่องบินจำลองนางสาวสยาม" สื่อสารประวัติศาสตร์เครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” พร้อมส่งต่อ "เครื่องบินจำลองนางสาวสยาม" สู่หน่วยงานด้านการบินทั้งในและต่างประเทศ หวังให้เป็นที่ระลึกเพื่อสื่อสารประวัติศาสตร์ของเครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT และคณะเข้าพบ ณ ห้องรับรองกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบเครื่องบินจำลองนางสาวสยามลำแรก ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้น เพื่อเป็นของที่ระลึกเชิงสัญลักษณ์สื่อถึงประวัติศาสตร์การบินพลเรือนของประเทศไทย

กพท.ในฐานะหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุม และส่งเสริมการดำเนินงานของกิจการการบินพลเรือน มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของประวัติศาสตร์เครื่องบิน “นางสาวสยาม” จึงขออนุญาตมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำเครื่องบินจำลองนางสาวสยาม ขนาดลำตัว 40 เซนติเมตร และ 20 เซนติเมตร เพื่อสื่อสารประวัติศาสตร์ของเครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย และจะส่งมอบเป็นของที่ระลึกให้แก่หน่วยงานด้านการบินทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งหวังให้เรื่องราวของเครื่องบิน “นางสาวสยาม” ยังคงอยู่ในความทรงจำและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนสืบต่อไป


และในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 กพท.จะจัดพิธีมอบเครื่องบินจำลองนางสาวสยาม เพื่อเป็นเกียรติแก่ทายาทและครอบครัวของ นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกองทัพอากาศ ณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ

"การรับมอบเครื่องบินจำลองนางสาวสยาม จากหน่วยงาน กพท.เพื่อส่งต่อสู่หน่วยงานด้านการบินทั้งในและต่างประเทศในครั้งนี้ หวังว่าจะเป็นการสานต่อเรื่องราวของเครื่องบินนางสาวสยาม ให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงประวัติความเป็นมา และให้ทราบถึงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างไทยกับจีนที่มีความยาวนาน และหลังจากนี้การพัฒนาประวัติศาสตร์ด้านการบินยังคงดำเนินต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการบินของภูมิภาคที่แข็งแกร่ง"


“นางสาวสยาม” เป็นเครื่องบินส่วนตัวของ นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ อดีตนักเรียนทุนส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ที่เดินทางไปศึกษาวิทยาการด้านการบิน ณ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ด้วยความสามารถที่โดดเด่นด้านการบิน นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ได้รับจ้างแสดงเครื่องบินผาดโผนจนเป็นที่โด่งดังในสหรัฐอเมริกา รายได้จากการเดินสายไปแสดงในรัฐต่างๆ กว่า 30 รัฐ ทำให้นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ สามารถซื้อเครื่องบินส่วนตัวได้ 1 ลำ ในราคา 6,000 บาท พร้อมตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า “นางสาวสยาม”

วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ได้บินเดี่ยวด้วยเครื่องบิน “นางสาวสยาม” มุ่งหน้าทำภารกิจเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน การเดินทางท่ามกลางสงครามทางการเมืองในครั้งนั้นต้องผ่านอุปสรรคทั้งเสี่ยงเป็นและเสี่ยงตาย แต่ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ สามารถทำภารกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้สำเร็จภายในเวลา 17 วัน ปัจจุบันเครื่องบิน “นางสาวสยาม” อยู่ในความดูแลของมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์


กำลังโหลดความคิดเห็น