xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานเปิดแผน PDP 2024 มีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 60,208 MW

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก.พลังงานเปิดประชาพิจารณ์ PDP 2024 และ Gas Plan 2024 ระบุแผน PDP 2024 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่และระบบกักเก็บพลังงานรวม 60,208 เมกะวัตต์ โดยเป็นพลังงานหมุนเวียน 34,851 เมกะวัตต์ ขณะที่ค่าไฟฟ้าต่ำเฉลี่ย 3.87 บาทต่อหน่วย ด้านปลัดพลังงานลั่นสัปดาห์หน้าวางกฎเกณฑ์โครงการนำร่อง Direct PPA ดึงทุนข้ามชาติ

วันนี้ (12 มิ.ย.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (Power Development Plan: PDP 2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024) โดยแผน PDP2024 จะให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ 3 ด้าน คือ ด้านเน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) ด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) และด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan)

โดยร่างแผน PDP 2024 ระบุมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่และระบบกักเก็บพลังงานในช่วงปี 2567-2580 รวม 60,208 เมกะวัตต์ (ไม่รวมกำลังผลิตที่มีข้อผูกพัน) แบ่งเป็นประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 34,851 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนหรือนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ และอื่นๆ (DR, V2G) 2,000 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 12,957 เมกะวัตต์เป็นระบบกักเก็บ ประกอบด้วยพลังน้ำแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 10,485 เมกะวัตต์

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงทุนเองจำนวน 5 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิต 3,500 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 3 โครงการรวม 2,800 เมกะวัตต์อาจเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) เพื่อให้เอกชนที่สนใจยื่นประมูล หรืออาจให้ กฟผ.ลงทุนก็ได้ ส่วนพลังน้ำแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ และนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์จะเป็นการลงทุนของ กฟผ.ด้วยเช่นกัน

กำลังผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ในปี 2567-2580 จำนวน 34,851 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 24,412 เมกะวัตต์ พลังลม 5,345 เมกะวัตต์ ชีวมวล 1,046 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 936 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ 2,681 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์


ขณะที่ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยขายปลีกปี 2567-2580 ของแผน PDP 2024 เฉลี่ย 3.8704 บาทต่อหน่วย ถูกลงจากแผนเดิมซึ่งอยู่ที่ 3.9479 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม แผน PDP 2024 จะมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 51% เทียบแผนเดิม 36% รวมถึงการนำไฮโดรเจนมาผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 5% อีกด้วย

ภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวตามขั้นตอนแล้ว จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุพีดีพี จากนั้นจะเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ คาดว่าจะประกาศใช้แผน PDP 2024 ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และบีโอไอ เพื่อออกมาตรการที่เหมาะสมในการเปิดให้บริษัทเอกชนซื้อขายไฟฟ้าสะอาดหรือพลังงานทดแทนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า (Direct PPA) เบื้องต้นจะเปิดโครงการนำร่อง Direct PPA เพื่อทดลองตลาดภายในปีนี้ ซึ่งจะมีความชัดเจนในหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการในสัปดาห์หน้า การกำหนดอัตราการซื้อขายระหว่างกันและอัตราค่าบริการสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) เป็นต้น ซึ่งโครงการ Data Center จะใช้ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 50 เมกะวัตต์ และต้องเป็นไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 100% เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าคาดว่าสูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าทั่วไป

โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ปริมาณ 5,203 เมกะวัตต์ หรือโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด เฟส 1 จะสามารถขายไฟฟ้าร่วมกับโครงการนำร่อง Direct PPA ได้หรือไม่นั้นยังต้องหารือในรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีความเป็นไปได้ แม้ว่าจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 11 มิ.ย. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงพลังงานหาแนวทางร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการออกมาตรการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า หรือ Direct PPA (Purchase Power Agreement) โดยให้นำเสนอมาตรการที่เหมาะสมต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 18 มิถุนายน เพื่อหวังดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และส่งเสริมการลงทุนด้าน Data Center ในประเทศไทยตามที่ Google เรียกร้องขอความชัดเจนเรื่อง Direct PPA เพื่อตัดสินใจลงทุนในปลายปีนี้

นายประเสริฐกล่าวถึงความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 เพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์คาดว่าจะสามารถดำเนินโครงการได้ภายในปีนี้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2024) ผ่านการอนุมัติ เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่องจากแผน PDP 2018 Rev.1 โดยจะเป็นการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนพลังงานลมยังติดปัญหาคดีฟ้องศาล


กำลังโหลดความคิดเห็น