กรมการค้าต่างประเทศเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 44 ที่สปป.ลาว เห็นพ้องศึกษาบทบาทและความสำคัญของอาเซียนในระบบอาหารโลกเพื่อเตรียมรับมือปัญหาความมั่นคงอาหารในภูมิภาค หลังสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยการผลิตเพิ่ม และการใช้มาตรการกีดกันการค้าเป็นอุปสรรคต่อความมั่นคงทางอาหาร
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ส่งผู้แทนเดินทางไปเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 44 (The 44thASEAN Food Security Reserve Board (AFSRB) Meeting) ระหว่างวันที่ 5-6 มิ.ย. 2567 ณ เมืองวังเวียง สปป.ลาว ซึ่งเป็นเจ้าภาพ โดยที่ประชุมเห็นควรให้มีการศึกษาวิเคราะห์บทบาทและความสำคัญของอาเซียนในระบบอาหารโลก เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค และเห็นควรให้ขอความช่วยเหลือด้านเทคนิคและงบประมาณในการดำเนินการจากองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียน (ERIA) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแนวทางการแก้ปัญหาเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ (SOM-AMAF) ต่อไป
“ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความท้าทายที่ประเทศสมาชิกกำลังเผชิญในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าอาหารหลักในหลายประเทศ ราคาปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ความผันผวนของต้นทุนในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการใช้มาตรการการค้า ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหาร”
ทั้งนี้ สมาชิกอาเซียนได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสำรองของอาหารสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลือง เพื่อประเมินสถานการณ์อาหารในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2567 คาดการณ์ผลผลิตข้าวรวมของอาเซียนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวหลัก เช่น เวียดนาม และเมียนมา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ไทยจะมีผลผลิตข้าวลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้ง และคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลในอาเซียนลดลง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ มีผลผลิตลดลง
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมอาเซียนยังคงมีผลผลิตข้าวและน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการบริโภคและส่งออกไปทั่วโลก ในขณะที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพด เนื่องจากมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในภูมิภาค โดยคาดว่าในปี 2567 อาเซียนจะนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพดเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.91 และร้อยละ 0.97 ตามลำดับ
สำหรับคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB) ได้จัดตั้งขึ้นภายใต้ความตกลงว่าด้วยการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (Agreement on the ASEAN Food Security Reserve) ที่ได้มีการลงนามเมื่อปี 2522 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางอาหารภายในภูมิภาค ซึ่งประเทศสมาชิกจะประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกปีเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประเมินสถานการณ์อาหารของภูมิภาคอาเซียนและของโลก ตลอดจนติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการประชุม AFSRB ยังเป็นกลไกความร่วมมือสำคัญของสมาชิกอาเซียนในการเตรียมพร้อมรับมือและติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาค โดยในปี 2568 มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม AFSRB ครั้งที่ 45 ต่อไป