xs
xsm
sm
md
lg

“เถ้าแก่น้อย” ปูพรมสาหร่าย 100 ประเทศ ผนึก PT Sukanda เจาะมุสลิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - TKN โหมหนัก ตปท.สู่เป้าหมาย Global Brand ในอนาคต วางเป้าหมายภายในอีก 5 ปีจากนี้ต้องขยายตลาดสาหร่ายเถ้าแก่น้อยให้ได้ครบ 100 ประเทศ จากเดิมขณะนี้ขยายได้แล้วกว่า 50 ประเทศหลังจากทำตลาดมา 20 ปี ล่าสุดพร้อมลุยเต็มพื้นที่บนเกาะอินโดนีเซียผ่าน “PT Sukanda Djaya” ดิสทริบิวเตอร์รายใหญ่ มั่นใจโกยรายได้ 600 ล้าน ดันสู่รายได้รวม 6,000 ล้านบาทในปีนี้


นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสาหร่ายทะเลแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า “เถ้าแก่น้อย” รวมถึงขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เปิดเผยว่า เถ้าแก่น้อยทำตลาดเข้าสู่ปีที่ 20 ในปีนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการก้าวขึ้นผู้นำตลาดสาหร่ายในประเทศ สู่ผู้นำอาเซียน จนมาถึงเอเชีย

ในขณะนี้อยู่ในช่วงก้าวสำคัญจากเอเชียไปสู่ระดับโลก ซึ่งปัจจุบันมีวางจำหน่ายไปแล้ว 50 ประเทศ เชื่อว่าใน 5 ปีจากนี้จะเพิ่มเป็น 100 ประเทศทั่วโลกได้ โดยแผนดำเนินธุรกิจจากนี้จะเดินหน้าด้วยกลยุทธ์ 3GO คือ GO FIRM ปรับองค์กรให้กระชับ ลดต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่าย (Productivity) ทำให้องค์กรเกิดความคล่องตัวและรวดเร็วขึ้น (Lean) สามารถลดต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปีที่แล้วเป็นปีแรกที่ใช้ระบบ Automation ภายในโรงงานเข้ามาเสริม เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตมากขึ้น จากการช่วยลดต้นทุนแรงงานบางส่วนได้แล้วยังยกระดับมาตรฐานการผลิตและเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งในระยะยาวสามารถเอื้อต่อการขยายสเกลได้ในทันที จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตตอนนี้ปีละ 8,000 ตัน

GO BROAD ขยายฐานกลุ่มธุรกิจให้กว้างขึ้นผ่านการพัฒนาสินค้านวัตกรรมกลุ่มใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด สร้างโปรดักต์มิกซ์ให้เกิดความหลากหลายยิ่งขึ้น ช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดโตขึ้น เช่น สาหร่ายอบกรอบที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา รองรับกลุ่มคนรักสุขภาพ รวมถึงสาหร่ายโรยข้าวจับกลุ่มครอบครัวและผู้ปกครอง


GO GLOBAL ขยายตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ พร้อมสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เน้นการทำ Idol Marketing และ Brand Content Creator มาผลักดันแบรนด์ให้มีภาพที่กว้างขึ้น

โดยเฉพาะกลยุทธ์ GO Broad คือการขยายธุรกิจให้กว้างขึ้น โดยไม่ได้จำกัดการผลิตและจำหน่ายสินค้าในรูปแบบเดียว แต่จะพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ๆ เพื่อขยายพอร์ตสินค้า พร้อมมุ่งเน้นบริหารจัดการยอดขาย (Revenuement) ด้วยการบริหารสินค้าและช่องทางการขายที่มีกำไรดี (Product Mix and Channel Mix) ให้มีประสิทธิภาพตาม เป้าหมายการเติบโตอย่างน้อย 15% ผ่านช่องทางทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีศักยภาพ

ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดต่างประเทศนั้น บริษัทจะเน้น 5 ประเทศสำคัญ คือ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย แคนาดา และอเมริกา ซึ่งเถ้าแก่น้อยถือเป็นแบรนด์นำเข้าอันดับ 1 ในกลุ่มสาหร่ายของทั้ง 5 ประเทศเหล่านี้ ล่าสุดในส่วนของอินโดนีเซียนั้น บริษัทมองเห็นโอกาสขยายตลาด จึงได้ร่วมมือกับ PT Sukanda Djaya เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ เพื่อขยายผลิตภัณฑ์สาหร่ายเถ้าแก่น้อยผ่านหลากหลายกลุ่ม ทั้งช่องทาง Modern Trade (MT), ช่องทาง Traditional Trade (TT) และ Horeca รวมถึงช่องทาง E-commerce ซึ่งเป็นส่วนที่พันธมิตรมีความเชี่ยวชาญ และมองว่ามีศักยภาพในการเติบโตอีกมากเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น


"บริษัทได้จับมือกับ PT Sukanda Djaya อย่างเป็นทางการเมื่อช่วง Q4 ของปีที่ผ่านมา ถึงสิ้นปีนี้คาดว่าจะมียอดขาย 600 ล้านบาท หรือโตจากปีก่อนไม่ต่ำกว่า 20% และบริษัทตั้งเป้าว่าใน 5 ปีจากนี้เถ้าแก่น้อยจะเป็นผู้นำตลาดที่อินโดนีเซียได้ในทุกช่องทางได้” นายอิทธิพัทธ์กล่าว

ปีนี้บริษัทตั้งเป้าเติบโตขึ้นอีก 15% หรือกว่า 6,000 ล้านบาท (95% มาจากสาหร่าย) จากปีก่อนทำไว้ 5,323.4 ล้านบาท เติบโต 21.9% จากปีก่อนหน้า ซึ่งรายได้หลักมาจาก 1. ยอดขายในประเทศ 30% และ 2. รายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 65-70% และในส่วนของต่างประเทศมาจากจีนถึง 35% ขณะที่รายได้จากอินโดนีเซียนั้นอยู่ที่ 15% คาดว่ายอดขายจะเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% พร้อมเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์สาหร่ายเพื่อยกระดับแบรนด์ เถ้าแก่น้อย สู่ Global Brand ในอนาคต

ปี 2567 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปีก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยวจะมีอัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 7.9% ขณะที่ TKN สร้างการเติบโตในปี 2566 ได้ถึง 22% สูงกว่าการเติบโตของตลาดขนมขบเคี้ยว โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก 1.) ดีมานด์สาหร่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศหลัก จีน, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยเถ้าแก่น้อยเข้าไปทำกิจกรรมการตลาดให้สอดรับกับการบริโภคของตลาดที่เกิดขึ้น 2.) การขยายช่องทางตลาดที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา โดยสามารถเจาะเข้าสู่ช่องทาง Modern Trade (MT) เป็นหลัก เช่น ห้าง Costco และห้าง Wholefood และ 3.) กระแสการบริโภคสาหร่ายตามเทรนด์เพิ่มขึ้น แม้ปัจจุบันคู่แข่งในตลาดจะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” จึงเป็นตัวเลือกอันดับแรกของกลุ่มผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขายในตลาดต่างประเทศ โดย ณ ไตรมาส 1/67 เติบโต 13.5% และคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 65% ของยอดขายรวมเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


นายวชิระ ญาณทัศนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานการค้าต่างประเทศ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN กล่าวว่า อินโดนีเซียเป็นตลาดมุสลิมที่นิยมการบริโภคสาหร่ายเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและมีศักยภาพการเติบโตสูง ซึ่งการปรับเปลี่ยนตัวแทนจัดจำหน่ายรายใหม่เมื่อปลายปี 2566 เพื่อมุ่งเน้นการขยายช่องทางการขายที่กว้างขึ้น พร้อมเดินหน้าตอกย้ำการทำตลาดในกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมให้มากขึ้น โดยเน้นการสื่อสารผ่าน Key Opinion Leader (KOLs) หรือ Influencer ที่เป็นชาวมุสลิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มผู้บริโภค รวมถึงจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรม Food Truck จัดบูทชงชิม แจกสินค้าตัวอย่าง เป็นต้น ล่าสุดในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างเช่น รอมฎอน (ถือศีลอด) ได้ร่วมกับพันธมิตรออกบูทในงาน Jakarta Lebaran Fair ที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

โดยปัจจุบันเถ้าแก่น้อยมีสินค้าอยู่บนชั้นวางสินค้าครอบคลุม Modern Trade ในอินโดนีเซียกว่า 809 แห่ง และยังสามารถเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะช่องทาง Traditional Trade และ E-Commerce นอกจากนั้นจะมีการขยายตลาดสินค้ากลุ่มสาหร่ายอบ จับกลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานเป็นอาหารหรือทานคู่กับอาหาร นับเป็นฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ นอกเหนือจากกลุ่มตลาดขนมขบเคี้ยว

นายวชิระกล่าวว่า “การสร้างแบรนด์ไทยให้เติบโตและมีชื่อเสียงในระดับโลกต้องเริ่มจากการสร้างรากฐานของแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เถ้าแก่น้อยจึงได้รุกสร้างการเติบโตในตลาดต่างประเทศอย่างเต็มกำลัง โดยในแต่ละประเทศมีทิศทางและการทำงานที่ต้องปรับให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภค วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ ความเป็นอยู่ของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ ซึ่งการร่วมมือกับ PT Sukanda Djaya ในครั้งนี้ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันจากพันธมิตรที่แข็งแกร่งและการกระจายสินค้าในทุกช่องทางจัดจำหน่ายของเถ้าแก่น้อยทั่วประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันเถ้าแก่น้อยมีสินค้าอยู่บนชั้นวางสินค้าครอบคลุม Modern Trade ในอินโดนีเซียกว่า 80% และยังสามารถเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะช่องทาง Traditional Trade และ E-Commerce นอกจากนั้น เราได้มีการขยายตลาดสินค้ากลุ่มสาหร่ายอบที่จับกลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานเป็นอาหารหรือรับประทานคู่กับอาหาร นับเป็นฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ นอกเหนือจากกลุ่มตลาดขนมขบเคี้ยว”


ด้าน Mr. Philip Min Lih Chen President Director บริษัท PT Sukanda Djaya กล่าวว่า บริษัทฯ มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมากกว่า 45 ปี ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายและกระจายสินค้าอาหารแช่แข็ง แช่เย็น ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส และสินค้าบริโภคอื่นๆ โดยนำเข้าโดยตรงจากผู้ผลิตในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เพื่อกระจายสินค้าและทำการตลาดทั้งในช่องทาง Retail และ Food Service โดยเริ่มจากการกระจายสินค้าที่ผลิตจากบริษัทแม่ ได้แก่ ไอศกรีม นม น้ำผลไม้ต่างๆ และสินค้าประเภทอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน และมีระบบการขนส่งรวมทั้งศูนย์กระจายสินค้าของตัวเองมากกว่า 20 แห่งตามเมืองต่างๆ เพื่อกระจายสินค้าไปยังช่องทางต่างๆ ทั่วประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับความร่วมมือระหว่าง TKN กับ PT Sukanda Djaya เป็นการประกาศความพร้อมรุกตลาดขนมขบเคี้ยวของเถ้าแก่น้อยในอินโดนีเซียทุกมิติ โดยผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์เถ้าแก่น้อยมีพอร์ตโฟลิโอหลากหลายรูปแบบ ทั้งอบ ทอด ย่าง เทมปุระ โดยทุกผลิตภัณฑ์จะถูกพัฒนามาจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคแบบลึกซึ้ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทุกเซกเมนต์ให้ได้สูงที่สุด เน้นการนำเสนอจุดเด่นและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน พร้อมผสานคุณประโยชน์และฟังก์ชันรสชาติต่างๆ เพื่อเป็นจุดเด่นของแบรนด์ยิ่งขึ้น ประกอบกับด้วยความแข็งแกร่งของ PT Sukanda Djaya จะยิ่งช่วยเสริมแกร่งในการนำสินค้ามาบุกตลาด เพื่อสร้างประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่าย

“เราเล็งเห็นถึงศักยภาพของแบรนด์เถ้าแก่น้อยที่มีการเติบโตสูง และยังเป็นผู้นำของตลาดสาหร่ายในประเทศอินโดนีเซียประกอบกับผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกรับประทาน ซึ่งการได้เป็น Distributor ของ TKN เราพร้อมช่วยขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ” Mr. Philip Min Lih Chen กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น