“มนพร” ปาฐกถาพิเศษ “การเดินทางที่สะอาดของประเทศไทยและแผนงานในอนาคต” ยันรัฐบาลหนุนยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ EV 30% ในปี 73 เป็นศูนย์กลางการผลิต ดึงลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท
วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แสดงปาฐกถาพิเศษ “การเดินทางที่สะอาดของประเทศไทยและแผนงานในอนาคต” ในงานนิทรรศการและการประชุมสุดยอด Future Mobility Asia 2024 โดยกล่าวว่า การจัดงานฯ ครั้งนี้ เกิดจากวิสัยทัศน์ร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่คมนาคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อมโยงไปถึงการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการคมนาคมในประเทศไทยไม่ใช่เพียงแค่วิธีการเดินทาง แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญของเอกลักษณ์และโครงสร้างเศรษฐกิจ
ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอและผลักดันนโยบายและเดินหน้าโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งของเราให้สะอาดและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น คือ โครงการ Thailand Clean Mobility Program ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนานโยบายและกรอบการทำงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งให้ได้มากที่สุด เราได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงการสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบการคมนาคมที่ยั่งยืน
สำหรับความพยายามในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ประเทศไทยได้เร่งรัดการนำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งสาธารณะเพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนจากนโยบายที่ชัดเจนและความร่วมมือในระดับสากล พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ถึง 30% ภายในปี 2573 โดยรัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์สำหรับอนาคต
ทั้งนี้ เรามุ่งเน้นที่จะดึงดูดการลงทุนกว่าหนึ่งล้านล้านบาท และการพูดคุยกับบริษัทยานยนต์มากกว่า 10 บริษัท ซึ่งได้ส่งผลให้มีการลงทุนในไทยเกิน 150,000 ล้านบาท ซึ่งงานนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่สำคัญสำหรับภาครัฐและเอกชนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงาน ที่เข้าร่วมกำหนดอนาคตการเดินทางและการขนส่ง เพื่อเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการเดินทางและการขนส่ง
นางมนพร กล่าวว่า ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัทยานยนต์ชั้นนำจากต่างประเทศหลายแห่งได้เลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งสำหรับการขยายการผลิต ปัจจุบันเราได้ก้าวไปสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานที่ครบถ้วนจากการผลิตชิ้นส่วนไปจนถึงวิศวกรและโปรแกรมเมอร์ที่มีศักยภาพ ด้วยความมุ่งมั่นนี้ รัฐบาลมีแผนที่จะส่งเสริมการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การผลิตอุปกรณ์ การผลิตยาง การผลิตแบตเตอรี่ การประกอบชิ้นส่วนและการบำรุงรักษา ทั้งนี้เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ครบวงจรภายในประเทศ รวมถึงการให้การสนับสนุนแก่บริษัทยานยนต์ในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ของอนาคตอีกด้วย