xs
xsm
sm
md
lg

กรมรางอัปเดต “สถานีเพชรบุรี” รถไฟทางคู่สายใต้ ลิฟต์ สะพานลอย ชานชาลามีหลังคา สิ่งอำนวยความสะดวกครบ รองรับได้ 5,000 คน/วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมรางอัปเดตทางคู่สายใต้ “สถานีเพชรบุรี” ทยอยเปิดใช้ตัวสถานีใหม่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน ชานชาลามีหลังคาคลุม สะพานลอย และลิฟต์ รองรับผู้โดยสารได้ถึง 5,000 คน/วัน เตรียมปรับปรุงสถานีเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์และร้าน OTOP สร้างรายได้ให้ชุมชน ขณะที่ ขบ.เตรียมพัฒนาเส้นทางรถโดยสารสาธารณะเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยว-ชุมชน

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า จากที่ได้รับมอบหมายจากนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการก่อสร้างสถานีรถไฟเพชรบุรี ซึ่งเป็นสถานีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญา 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้า 98.372%

ในส่วนของสถานีเพชรบุรี (กม.150+500) ดำเนินการก่อสร้างคืบหน้า 90.20% โดยสถานีเพชรบุรีใหม่อยู่ด้านใต้ติดกับอาคารสถานีเพชรบุรีหลังเก่า ปัจจุบันเปิดใช้งานขายตั๋วรถไฟแล้ว เป็นสถานีขนาดใหญ่รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 5,000 คนต่อวัน มีพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารประมาณ 1,759.22 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องควบคุมระบบต่างๆ ห้องสุขาสำหรับพนักงาน ห้องนายสถานี ห้องประชุม และห้องรับรอง มีห้องสุขาสาธารณะขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 90 ตารางเมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ห้องสุขาชาย ห้องสุขาหญิง และห้องสุขาเสมอภาค


มีชานชาลาสำหรับผู้โดยสารมีหลังคาคลุมจำนวน 3 ชานชาลา ประกอบด้วย ชานชาลาที่ 1 (font) พื้นที่ใช้สอยรวม 2,377.14 ตารางเมตร ชานชาลาที่ 2 (middle) พื้นที่ใช้สอยรวม 1,875.34 ตารางเมตร และชานชาลาที่ 3 (siding) พื้นที่ใช้สอยรวม 1,347.50 ตารางเมตร โดยมีสะพานลอยระหว่างชานชาลา มีบันไดขึ้น-ลง 3 ทางพร้อมทั้งลิฟต์ 3 ตัว อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทุกคน

นอกจากนี้ มีบ้านพักพนักงานรถไฟ เป็นอาคารสองชั้น จำนวน 2 อาคาร รวม 6 คูหา มีพื้นที่ถนนของโครงการ 630 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่สำหรับจอดรถ 467 ตารางเมตร รองรับรถยนต์ได้ 21 คัน และพื้นที่สำหรับจอดรถผู้พิการ 1 คัน และงานปรับปรุงภูมิทัศน์รอบสถานี 2,085 ตารางเมตร


นายพิเชฐกล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่า บริเวณย่านสถานีรถไฟเพชรบุรี รฟท.ได้ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่นักศึกษาพยาบาลของวิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับคำขอบคุณจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่วิทยาลัยพยาบาล และเนื่องจากปัจจุบัน รฟท.ได้ใช้งานสถานีใหม่ ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาปรับปรุงอาคารสถานีเก่า ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม สำหรับเป็นพิพิธภัณฑ์และอาคารจำหน่ายสินค้า OTOP และของที่ระลึก เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนในจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟเพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดจอดรถโดยสารรถประจำทาง สามารถพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นลานจอดรถขนส่งสาธารณะได้เพื่อรองรับการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างล้อ-ราง ตามนโยบาย นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

สำนักงานขนส่งจังหวัดเพชรบุรีมีแผนที่จะพัฒนาเส้นทางรถโดยสารสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟเพชรบุรี กับสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อประหยัดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกลง


สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร งบประมาณการก่อสร้าง 33,982 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ได้เปิดเดินรถไฟทางคู่ช่วงบ้านคูบัว-สะพลี ระยะทาง 347.4 กิโลเมตรแล้ว ส่วนที่เหลือช่วงสถานีโพรงมะเดื่อ-สถานีบ้านคูบัว ระยะทาง 50 กม. และช่วงสถานีสะพลี-สถานีชุมพรและย่านสถานีชุมพร รวม 15.6 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยในส่วนของงานโยธาได้ดำเนินการใกล้เสร็จครบทั้งหมด งานด้านระบบอาณัติสัญญาณมีความคืบหน้าแล้ว 58.489% และตามแผนจะเปิดใช้ทางคู่ประมาณช่วงเดือนมิถุนายน 2567

คงเหลือช่วงสถานีนครปฐม-สถานีโพรงมะเดื่อ ระยะทาง 8 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดใช้งานทางคู่ได้ในเดือนสิงหาคม 2567 โดยใช้ระบบทางสะดวก (E-Token) ในการเดินรถ ในระหว่างที่ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม (สัญญา 6) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเดินรถไฟทางคู่เต็มรูปแบบช่วงกลางปี 2568


โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน -ชุมพร แบ่งออกเป็น 5 สัญญา ได้แก่
1. ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 1 (นครปฐม-หนองปลาไหล) ระยะทาง 93 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 8,198 ล้านบาท ความคืบหน้าผลงาน 98.319% ล่าช้ากว่าแผน 1.681%

2. ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 2 (หนองปลาไหล-หัวหิน) ระยะทาง 76 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 7,520 ล้านบาท ความคืบหน้าผลงาน 99.313% ล่าช้ากว่าแผน 0.687%

3. ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 5,807 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ

4. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 1 (ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย) ระยะทาง 88 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 6,465 ล้านบาท ความคืบหน้าผลงาน 99.245% สร้างล่าช้ากว่าแผนงาน 0.755%

5. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 2 (บางสะพานน้อย-ชุมพร) ระยะทาง 79 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 5,992 ล้านบาท ความคืบหน้าผลงาน 99.425% สร้างล่าช้ากว่าแผนงาน 0.575%




กำลังโหลดความคิดเห็น