“สุรพงษ์” ตรวจไซต์ก่อสร้างรถไฟทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ที่จังหวัดเชียงราย บริเวณอุโมงค์ทางรถไฟดอยหลวง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อุโมงค์ของโครงการฯ เร่งสร้างให้เสร็จตามแผน เปิดบริการปี 71 ลดเวลาเดินทางเทียบรถยนต์เร็วกว่า 1-1 ชั่วโมงครึ่ง
วันที่ 18 มีนาคม 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ทางรถไฟดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โดยมี นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชษฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ร่วมคณะ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า การก่อสร้างอุโมงค์ทางรถไฟดอยหลวง เป็น 1 ใน 4 อุโมงค์ภายใต้โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ตามแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ภูเขา ประกอบด้วย 1) อุโมงค์สอง จังหวัดแพร่ ความยาว 1.2 กม. 2) อุโมงค์งาว จังหวัดลำปาง ความยาว 6.2 กิโลเมตร 3) อุโมงค์แม่กา จังหวัดพะเยา ความยาว 2.7 กิโลเมตร 4) อุโมงค์ดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ความยาว 3.4 กิโลเมตร รวมระยะทาง 13.5 กิโลเมตร ซึ่งอุโมงค์งาวเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้ ได้มอบให้ รฟท.เร่งรัดดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง การอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ผู้โดยสารให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟทางสายใหม่ให้เสร็จตามแผนที่กำหนด
โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 72,835 ล้านบาท รฟท.ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาใช้ก่อสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟ แบบโค้ง (Railway Arch culvert) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่แห่งแรกในไทย มีลักษณะเป็นคอนกรีตหล่อเสริมเหล็กแบบสำเร็จรูปจากโรงงาน สามารถยกไปประกอบติดตั้งได้ง่าย ช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้าง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าร้อยละ 20-25 รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ซีเมนต์ และเพิ่มความสูงและความกว้างให้ของทางลอด (Clearance) ประชาชนสามารถสัญจรได้สะดวกมากกว่าการทำทางลอดใต้ทางรถไฟแบบเดิม เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า สามารถลดระยะเวลาเดินทางเมื่อเทียบกับรถยนต์ได้กว่า 1-1 ชั่วโมงครึ่ง โดยคาดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดใช้บริการได้ในปี 2571
โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย โดยมีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีสถานีและป้ายหยุดรถ 26 แห่ง ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีขนาดเล็ก 9 แห่ง ป้ายหยุดรถ 13 แห่ง และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า บรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อไปยังชายแดนเชียงของ
โดยโครงการได้มีการออกแบบให้มีรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ไม่มีจุดตัดทางถนนโดยทำสะพานรถยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ (Overpass/ Underpass) รวมถึงสะพานลอยสำหรับทางเท้าและทางรถจักรยานยนต์ รวม 254 จุด ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางผ่านเสมอระดับ สามารถรักษาระดับความเร็วของขบวนรถไฟให้คงที่ มีความปลอดภัย
ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วเสร็จ รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะเป็นเส้นทางรถไฟที่มีเทคโนโลยีก่อสร้างที่ทันสมัย มีทิวทัศน์รอบข้างสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคม และโลจิสติกส์ของอาเซียน