บิ๊กโปรเจกต์อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ที่มีวงเงินลงทุนสูงถึง 179,412.21 ล้านบาท ปัจจุบันแม้จะเห็นว่าการก่อสร้างเริ่มมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่หากจะย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของ "ไฮสปีดเทรน" สายแรกของไทย ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีพิธีเริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ล่วงเลยมากว่า 6 ปีแล้ว แต่ภาพรวมการก่อสร้างยังไม่ถึงครึ่ง ล่าสุด ณ เดือนเม.ย. 2567 มีผลงานสะสมที่ 32.867% ล่าช้าถึง 33.470% (แผนงาน 66.337%) ซึ่งหมุดหมายการเปิดบริการในปี 2571 นั้น ไม่ได้เพียงแต่ก่อสร้างงานโยธาเสร็จเท่านั้น แต่จะต้องมีทั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมไปถึงการผลิตรถ และการจัดตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาบริหารโครงการที่ยังต้องเร่งรัดให้เสร็จภายในเวลา 4 ปีที่เหลือ
@“สุริยะ” นำทีมประชุมร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 31 ที่กรุงปักกิ่ง
วันที่ 8 พ.ค. 2567 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมกับนายอู่ ฮ่าว เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 31 ซึ่งถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ ภายใต้รัฐบาลใหม่ ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีวาระสำคัญคือ การติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้าง เฟสที่ 1, ผลักดันโครงการเฟสที่ 2 และการเชื่อมโยงจากไทย-สปป.ลาว
ฝ่ายไทยนั้น มีการรายงานงานก่อสร้างโครงการช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ระยะที่ 1) ระยะทาง 253 กิโลเมตร ซึ่งมีความก้าวหน้าในด้านการรื้อย้ายและเวนคืนที่ดิน ขณะที่งานโยธาแล้วเสร็จ 2 สัญญาจากทั้งหมด 14 สัญญา อีก 10 สัญญาอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และรอการลงนามจำนวน 2 สัญญา โดยฝ่ายไทยแจ้งกับฝ่ายจีนว่าจะใช้ความพยายามอย่างสูงสุดเพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571
@ชง ครม.เคาะเฟส 2 นครราชสีมา-หนองคาย วงเงิน 3.41 แสนล้านบาท
พร้อมกันนี้ ยังได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการของโครงการระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 341,351.42 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายไทยได้ออกแบบรายละเอียดงานโยธาแล้วเสร็จ และรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว และเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ คู่ขนานไปพร้อมกับการขออนุมัติโครงการภายในปี 2567
รถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 นี้คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) ได้มีมติเห็นชอบโครงการฯ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างช่วงนครราชสีมา-หนองคายได้ในปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 48 เดือน (หรือ 4 ปี) ก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า 66 เดือน (หรือ 5 ปีครึ่ง) คาดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2573 หรือหลังจากเปิดบริการ เฟส 1 ประมาณ 2 ปี
@ตั้งงบปี 67 ออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงใหม่ เชื่อม "เวียงจันทน์"
สำหรับโครงการรถไฟเชื่อมต่อจากจังหวัดหนองคายไปยังเวียงจันทน์ สปป.ลาว ฝ่ายไทยแจ้งความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร มีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน และทางขนาด 1 เมตร ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ศึกษาความเหมาะสม ปัจจุบันศึกษาเสร็จแล้ว ส่งมอบให้รฟท.ดำเนินการต่อ ซึ่ง รฟท.ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 สำหรับการออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงาน EIA จำนวน 125 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงาน และราคากลางเพื่อจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดแล้ว
นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า โดย รฟท.ได้ดำเนินการศึกษาในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อเป็นสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่รับรองการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟระหว่างทางรถไฟขนาด 1 เมตร และขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร รวมถึงเป็นพื้นที่การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างทางถนนกับทางรางและพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้า โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น อาคาร คลังสินค้า การให้บริการคลังสินค้า รวมทั้งการให้บริการพิธีการทางศุลกากรเพื่อตรวจปล่อยสินค้า X–ray ตู้สินค้า การตรวจรังสี เป็นต้น
“นาทา จะเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่าง 3 ประเทศ ไทย ลาว และจีน”
@ส่อง! 14 สัญญา ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังช้ากว่าแผน 33.470%
สำหรับงานโยธา ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ระยะที่ 1) ระยะทาง 253 กม. แบ่งออกเป็น 14 สัญญานั้น การก่อสร้าง ณ เดือน เม.ย. 2567 ภาพรวมมีความคืบหน้า 32.867% ล่าช้า 33.470%(แผนงาน 66.337%) โดยสร้างเสร็จแล้ว 2 สัญญา อีก 10 สัญญากำลังก่อสร้าง (ล่าช้า 9 สัญญา สร้างเร็วกว่าแผน 1 สัญญา)
ความคืบหน้าแต่ละสัญญา มีดังนี้
สัญญา 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. วงเงิน 362 ล้านบาท ก่อสร้างโดยกรมทางหลวง แล้วเสร็จ 100%
สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,114 ล้านบาท มี บจ.ซีวิลเอ็นจิเนียริง เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 98.67% (ล่าช้า 1.33%) จะแล้วเสร็จสิ้นเดือนส.ค.2566
สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348.99 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ITD เป็นผู้รับจ้าง ผลงานสะสม 0.26% ล่าช้า 1.020 %(แผนงาน 1.280 %)
สัญญา 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท มี บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการผู้รับจ้าง ผลงานสะสม 63.080% ล่าช้า 32.920% (แผนงาน 100%)
สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท มี บจ.ไทย เอ็นจิเนียร์และอุตสาหกรรมเป็นผู้รับจ้าง ผลงานสะสม 50.180% เร็วกว่าแผน 2.000% (แผนงาน 48.180%)
สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง ผลงานสะสม 73.350% ล่าช้า 1.320% (แผนงาน 76.670%)
สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า SPTK จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ผลงานสะสม 7.072% ล่าช้า 7.238% (แผนงาน 14.310%)
สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. เป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) อยู่ระหว่างแก้ไขสัญญา
สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. วงเงิน 10,570 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง ผลงานสะสม 0.300 % ล่าช้า 76.020% (แผนงาน 76.320 %)
สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า CAN (บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่นฯ, บจ.เอ.เอส.แอส โซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) และ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้รับจ้าง ผลงานสะสม 31.560% ล่าช้า 67.190% (แผนงาน 98.750%)
สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท มีบมจ.อิตาเลียนไทย เป็นผู้รับจ้าง ผลงานสะสม 10.444% ล่าช้า 53.326% (แผนงาน 63.770%)
สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 10,325 ล้านบาท ยังไม่ได้ลงนามสัญญา เนื่องจากมีประเด็นผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก และผู้ได้รับคัดเลือกขอปรับถ้อยคำในสัญญาจ้าง
สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท มี บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริง เป็นผู้รับจ้าง ผลงานสะสม 2.050% ล่าช้า 77.140% (แผนงาน 79.190%)
สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม.วงเงิน 8,560 ล้านบาท มี บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริง เป็นผู้รับจ้าง ผลงานสะสม 53.640% ล่าช้า 0.620% (แผนงาน 54.260%)
@เจาะปัญหา “เวนคืน-ปรับแบบ-ใช้พื้นที่ป่าไม้-หน่วยงานรัฐ”
สำหรับปัญหาอุปสรรคสำคัญของโครงการ ได้แก่ การเวนคืนที่ดิน ซึ่งได้มีประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ค่าทดแทน เริ่มจ่ายค่าเวนคืนแล้ว ปัจจุบัน ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างแล้ว 90%
ปัญหาจากการประชาชนเรียกร้องปรับรูปแบบก่อสร้าง ในสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา จากบริเวณโคกกรวด ถึงบ้านใหม่ จากทางวิ่งระดับดิน ระยะทาง 7.85 กม. เป็นทางวิ่งยกระดับ ซึ่งมีค่างานก่อสร้างเพิ่มอีก 4,791.45 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างเพิ่มอีกประมาณ 28 เดือน รฟท.เตรียมเสนอบอร์ดขออนุมัติ ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม.ต่อไป
และประชาชนในพื้นที่ ต.กุดจิก ต้องการปรับรูปแบบก่อสร้างจากทางวิ่งระดับดิน 9 กม. เป็นทางวิ่งยกระดับ ซึ่งอยู่ในสัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. โดย รฟท. เสนอแนวทาง โดยให้ขยับตำแหน่งสะพานกลับรถใต้สะพาน ทล.290 เพื่อเพิ่มช่องระบายน้ำให้มากขึ้น
@ส่งมอบพื้นที่ช้า ต้องขยายเวลารับเหมา 3 สัญญา
ส่วนประเด็นการขอใช้พื้นที่หน่วยงานรัฐซึ่งมีทั้งกรมธนารักษ์ กรมชลประทาน กรมราชทัณฑ์ กรมป่าไม้ กรมเจ้าท่า และกองทัพบก ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีขั้นตอนและใช้เวลาในการพิจารณา ส่งผลกระทบ การส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างล่าช้า จนต้องมีการขยายเวลาสัญญาเพื่อชดเชย
โดยเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 บอร์ด รฟท.มีมติขยายเวลาสัญญา 3-2 สร้างอุโมงค์คลองไผ่ ลำตะคอง อีก 431 วัน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 2567 ไปสิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. 2568 เนื่องจากการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า ในส่วนของอุโมงค์คลองไผ่ บริเวณลำตะคอง ซึ่งในสัญญาที่ 3-2 มีงานก่อสร้างอุโมงค์ จำนวน 4 อุโมงค์ ได้แก่ 1. อุโมงค์คลองไผ่บริเวณลำตะคอง ซึ่งมีความยาวมากที่สุด 4.25 กม. 2. อุโมงค์มวกเหล็ก 3. อุโมงค์ผาเสด็จ 4. อุโมงค์หินลับ ที่ผ่านมาได้ทยอยส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง โดยอุโมงค์คลองไผ่เป็นพื้นที่สุดท้ายที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจากกรมป่าไม้
สำหรับสัญญา 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. มี ระยะเวลาสัญญา 1,080 วัน บวกกับที่ได้รับการต่อขยายอีก 431 วันรวมเป็น 1,511 วัน
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 สัญญาที่ต้องขยายเวลา สัญญาจ้างก่อสร้าง คือสัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านไผ่ และสัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอบอร์ด รฟท.อนุมัติ
@งานระบบออกแบบช้า เพิ่งตรวจรับแบบเบื้องต้น
ส่วนสัญญา 2.3 งานออกแบบ จัดหา ติดตั้งระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงินประมาณ 50,633 ล้านบาท ปัจจุบันมีผลงานสะสม 0.920% ล่าช้า 68.53% (แผนงาน 69.450%) ล่าสุดฝ่ายจีนจัดทำร่างออกแบบงานระบบเสร็จแล้ว รฟท.ตรวจรับร่างแบบฉบับสุดท้ายแล้วและเตรียมเบิกค่าจ้างงวด จากนี้เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการ ผลิต รถจัดหาอุปกรณ์เพื่อผลิตตัวรถต่อไป
โดยคู่สัญญาฝ่ายจีน ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันแนล (CRIC ) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CRDC) เซ็นสัญญาเมื่อ 28 ต.ค. 2563 มีระยะเวลาดำเนินงาน 64 เดือน ตามสัญญาสิ้นสุด ก.พ. 2569 ได้มีการออก NTP ให้เริ่มงานออกแบบเมื่อ 22 ธ.ค. 2563 ซึ่งก่อนหน้านี้ รฟท.ได้จ่ายค่าจ้างล่วงหน้า (Advance Payment) ให้ฝ่ายจีนแล้ว เป็นเงินสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 197 ล้านเหรียญสหรัฐ และ สกุลเงินบาท 1,519 ล้านบาท ตามเงื่อนไขสัญญา
@“มรดกโลก-ทับซ้อน ซี.พี.” ยื้ดเยื้อ
ขณะที่อีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนามก่อสร้าง คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว มีประเด็นมรดกโลก ล่าสุด รฟท.จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment :HIA ) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เสร็จแล้ว และ ส่งรายงาน HIA ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 เพื่อให้ ทาง สผ.จะจัดส่งไปยัง ยูเนสโก อย่างเป็นทางการต่อไป
การศึกษารายงาน HIA ดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามคู่มือของศูนย์มรดกโลก ฉบับปี 2021 โดยมีการวิเคราะห์แนวทางเลือกในการพัฒนาโครงการเพื่อลดผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกให้น้อยที่สุด
อีกสัญญาที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง คือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. ที่มีประเด็นโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ยืนยันว่า ทาง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) รับเป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมด และมั่นใจว่า โครงการจะเดินหน้าต่อไป
ขณะที่ “จุฬา สุขมานพ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า การเจรจาเรื่องโครงสร้างร่วมมีทิศทางที่ดี คาดว่าหลังสิ้นสุดการขยายเวลารับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในวันที่ 22 พ.ค. 2567 จะเห็นความชัดเจน
ที่ทำให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปตามเป้าหมาย
@ เร่งเฟส 2 นครราชสีมา-หนองคาย บิ๊กรับเหมารอชิงเค้ก 2.3 แสนล้านบาท
นอกจากจะต้องเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคในโครงการเฟส 1 ที่ตอนนี้ก่อสร้างไม่ถึงครึ่งแล้ว ว่ากันว่า!!!ฝ่ายนโยบายยังต้องการเร่งรัดโครงการในเฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย ที่มีมูลค่าลงทุน 341,351 ล้านบาท โดยเบื้องต้นเฉพาะงานโยธาช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. มีวงเงินถึง 235,129 ล้านบาท แบ่งเป็น 13 สัญญา มูลค่าเฉลี่ยสัญญาละเกือบ 20,000 ล้านบาท ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบ ภายในปี 2567 คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 2568 จะเป็นมหกรรมเทกระจาด บิ๊กล็อตกว่า 2 แสนล้านบาท ผู้รับเหมารอชิงเค้กก้อนใหญ่ อุตสาหกรรมก่อสร้างคึกคัก แบงก์ วัสดุก่อสร้าง
เกิดความต้องการแรงงานจำนวนมาก และจะเป็นตัวช่วยรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน!!!