xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ”พบนักลงทุนจีน กว่า 30 บริษัท โรดโชว์”แลนด์บริดจ์”สร้างโอกาส-ศักยภาพ แจงรูปแบบการลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ”พบนักลงทุนภาคธุรกิจของจีน กว่า 30 บริษัท เดินหน้า Thailand Landbridge Roadshow โชว์โอกาส – ศักยภาพ - รูปแบบการลงทุน – ประโยชน์จากโครงการ หวังดึงร่วมลงทุน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 จากที่ตนพร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางร่วมการประชุมคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน (JC) ครั้งที่ 31 และการประชุมหารือด้านการคมนาคมขนส่งกับหน่วยงานภาครัฐของจีน จึงได้ถือโอกาสนี้จัดงาน “Thailand Landbridge Roadshow” ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท ปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อเชิญชวนนักลงทุนชาวจีน ร่วมลงทุนในโครงการฯ ดังกล่าว ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนภาคธุรกิจของจีนเข้าร่วมงาน กว่า 30 บริษัท

นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน “Thailand Landbridge Roadshow” ครั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมได้ให้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการแลนด์บริดจ์ อาทิ โอกาสทางธุรกิจ รูปแบบการลงทุน ศักยภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ โดยมีนักลงทุนภาคธุรกิจของจีน ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน จำนวน 30 บริษัท ประกอบด้วย ผู้ประกอบการสายการเดินเรือ ผู้ประกอบการด้านการบริหารท่าเรือ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการด้านการเงิน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลังท่า ผู้ประกอบการประกันภัย ผู้ประกอบการด้านการก่อสร้าง เช่น บริษัท COSCO Shipping Lines (Beijing) บริษัท Sinotrans Overseas Development บริษัท China Harbour Engineering ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน บริษัท China Railway International Development บริษัท Hutchison Ports บริษัท China Machinery Engineering Corporation บริษัท China Shandong International Economic & Technical Cooperation Grop และบริษัท Xiaomi Corporation เป็นต้น


ทั้งนี้ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ได้กำหนดรูปแบบการลงทุนเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยรัฐบาลจะดำเนินการจัดหาที่ดินและให้สิทธิเอกชนดำเนินงาน ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้าง บริหารจัดการ และรับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการเป็นระยะเวลา 50 ปี พร้อมทั้งส่งเสริมการต่อยอดอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม 5 New S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งในอนาคตโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน ช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล และต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เกิดเป็นศูนย์กลางการขนส่งและการค้าแห่งใหม่ของโลก


ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว ให้นานาประเทศได้รู้จักโครงการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนที่มีศักยภาพจากหลายประเทศให้ความสนใจโครงการ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และประเทศฝั่งตะวันออกกลาง






กำลังโหลดความคิดเห็น