xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ชะลอมอเตอร์เวย์ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อหยุดปัญหาพระราม 2 สั่ง ทล.เร่งสาย M8 "นครปฐม-ปากท่อ" เป้าเสร็จปี 75 เพิ่มเส้นทางลงใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สุริยะ" สั่งชะลอมอเตอร์เวย์  M82 'บ้านแพ้ว-ปากท่อ' ลั่นปี 68 ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้วเสร็จจบปัญหาพระราม 2 หันไปเร่ง M8 เฟสแรก 'นครปฐม-ปากท่อ' เป้าเสร็จปี 75 ระบายรถ 'เพชรเกษม' เพิ่มเส้นทางลงใต้ ทล.คาดเสนอ ครม. มิ.ย. 67 ลงทุน 4.3 หมื่นล้าน  
 
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการบนถนนพระราม 2 ของกรมทางหลวง (ทล.)  โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 24.7 กิโลเมตร (กม.) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568  และก่อนหน้านี้ได้ให้ ทล.เร่งรัดโครงการ M82  ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ ระยะทาง 47 กม. ซึ่งเป็นส่วนต่อเพื่อขยายเส้นทางไปถึงวังมะนาวให้แล้วเสร็จในปี 2574 เพราะต้องการให้การเดินทางต่อเชื่อมสมบูรณ์ ไม่อยากให้จราจรหนาแน่น แล้วค่อยมาก่อสร้าง แต่หลังจากประเมินสภาพของถนนพระราม 2 จึงพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทาง โดยให้ชะลอโครงการ M82 ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อออกไปก่อน โดยอยากให้งานบนถนนพระราม 2 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณ 3-4 ปี จึงค่อยมาพิจารณาดำเนินการช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ โดยเชื่อว่าหลังก่อสร้างช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้วเสร็จการจราจรจะคล่องตัวขึ้นแน่นอน


ในขณะเดียวกัน ให้ ทล.เร่งรัดมอเตอร์เวย์หมายเลข 8 สายนครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ (M8) โดยให้แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกช่วงนครปฐม-ปากท่อให้แล้วเสร็จในปี 2575 เพื่อช่วยแบ่งเบาปัญหาจราจรบนถนนเพชรเกษม ส่วนมอเตอร์เวย์ M8 เฟส 2 ช่วงปากท่อ-ชะอำ กรมทางหลวงรายงานว่ามีประชาชนในพื้นที่เป็นห่วงเรื่องเวนคืน จึงให้ไปเจรจากับประชาชน โดยพิจารณาปรับแบบ ย้ายแนวเส้นทางไปอีกฝั่งที่ไม่มีปัญหากับพื้นที่ของประชาชน เพราะจะเป็นเส้นทางแนวใหม่ที่รองรับปริมาณรถลงสู่ภาคใต้ และช่วยลดภาระของถนนพระราม 2 และโครงข่ายยังต่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) อีกด้วย


นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ทล.รับนโยบาย รมว.คมนาคมในการเร่งผลักดันมอเตอร์เวย์ (M8) เฟสแรก นครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กม. วงเงินลงทุน 43,227.16 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 29,156 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,783.29 ล้านบาท ค่าเวนคืน 12,287.87 ล้านบาท จะดำเนินการก่อนเนื่องจากไม่ติดปัญหาเรื่องพื้นที่ โดยมีแผนก่อสร้างในปี 2569-2572 ใช้รูปแบบ PPP Gross-Cost รัฐลงทุนงานโยธา และเอกชนลงทุนก่อสร้างงานระบบ O&M โดยรัฐเป็นเจ้าของรายได้ โดยจะนำเสนอ ครม.ในปี 2567 ระยะเวลาสัญญา 32 ปี (ก่อสร้าง 2 ปี บริหาร O&M 30 ปี โดยผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจของโครงการ มี EIRR 13.16%

ทล.อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเสนอกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเสนอ ครม.อนุมัติภายในไตรมาส 2 ปี 2567 จากนั้นดำเนินการร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืน ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ประกาศใช้ พ.ร.ฎ.เวนคืน และจ่ายค่าทดแทน และเจรจาแหล่งเงินกู้ ตั้งแต่ ไตรมาส 4 ปี 2567 โดยคาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในไตรมาส 4 ปี 2568 เริ่มก่อสร้างในไตรมาส 3 ปี 2569 โดยก่อสร้างงานโยธาประมาณ 4-4.5 ปี

สำหรับงานระบบ O&M คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการและหลักการร่วมลงทุนฯ ช่วงปลายปี 2567 จากนั้นเสนอบอร์ด PPP และ ครม.อนุมัติหลักการร่วมลงทุนงานระบบ O&M และจุดพักรถ (Rest Area) ก่อนจ้างที่ปรึกษาจัดทำเอกสาร RFP ช่วงกลางปี 2568 และดำเนินการคัดเลือกเอกชนเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2570 และเริ่มก่อสร้างงานระบบ O&M และ Rest Area ช่วงกลางปี 2571 คาดว่าจะเปิดทดสอบระบบและเปิดทดลองใช้เส้นทางต้นปี 2574


โดยโครงการมีขนาด 4 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นที่ กม. 9+855 สามารถเชื่อมต่อ มอเตอร์เวย์ M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี บริเวณ กม.9+855 Spur Line ชุมทางต่างระดับนครชัยศรี และเชื่อมต่อ ทล.338 ถนนบรมราชชนนี กม.31+419 บริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรี และจุดสิ้นสุดที่ปากท่อ เชื่อมต่อ ทล.4 (ถนนเพชรเกษม) บริเวณ กม.125+000 บริเวณทางแยกต่างระดับปากท่อ และเชื่อมต่อ ทล.35 (ถนนพระราม 2 ) กม.81+500

มีทางแยกต่างระดับ 6 แห่ง มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 6 แห่ง ใช้ระบบ M-Flow จุดพักรถ 3 จุดได้แก่ 1. Service Area โคกพระเจดีย์ (กม. 16+000 ) ขนาด 44 ไร่ 2. Rest Stop หัวโพ (กม.32+000) ขนาด 44 ไร่ 3. Rest Stop เขาย้อย (กม.86+900) ขนาด 41ไร่


กำลังโหลดความคิดเห็น