xs
xsm
sm
md
lg

บพข.-สกสว.ขับเคลื่อนเกาะเต่า “ท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ในงาน Spotlight Koh Tao 2024

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



    ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) พร้อมด้วย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการชุดแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทรงธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. , ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ รักษาการคณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนางสาวปาริชาต สุทนรารักษ์ อุปนายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) เข้าร่วมเวทีสนทนาพาทีริมผาหัวข้อ “ก้าวล้ำไปกับงานวิจัย : เดินหน้าสู่เกาะท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ในงาน Spotlight Koh Tao 2024

    เทศกาลประจำปีของเกาะเต่าที่ถูกขนานนามว่า นอบน้อมกับธรรมชาติและชุมชนมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ณ อ่าวลึก เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี โดยมี ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
การจัดงาน Spotlight Koh Tao 2024 ระหว่างวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2567 เป็นกิจกรรมสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวเกาะเต่า ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เปิดฉายแสงแห่งความรู้รักษ์ธรรมชาติ แสงแห่งเศรษฐกิจสีเขียว แสงแห่งพลังชุมชนและการจัดการเกาะอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นมิติการท่องเที่ยวยุคสมัยใหม่ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

    สำหรับเวทีสนทนาพาทีริมผา "ก้าวล้ำไปกับงานวิจัย : เดินหน้าสู่เกาะท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์" เป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ของงาน Spotlight Koh Tao 2024 โดยได้รับเกียรติจากผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ซึ่งได้ร่วมมือกับภาคีภาครัฐ เอกชน
โดยมีภาควิชาการเป็นผู้หนุนเสริมองค์ความรู้การวิจัยและนวัตกรรม เป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการที่จะร่วมตอบโจทย์ การประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายร่วมกับผู้นำประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2065 โดยการดำเนินการที่ผ่านมาของแผนงานฯ จะมุ่งเน้น 2 ประเด็นใหญ่ที่สอดคล้องกับแนวคิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่

     1)การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Mitigation) เป้าหมายการลดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทั่วโลก ด้วยเครื่องมือที่ใช้วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยคาร์บอนเครดิต จากแหล่งผลิตภายในประเทศ ผ่าน Zero Carbon Application ดำเนินการโดย สกสว. บพข.อบก. นอกจากนี้ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ราว 125 เส้นทาง ที่ได้รับการรับรองจาก อบก. ว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) เพื่อรองรับผลกระทบจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ผ่าน 3 โครงการหลัก ได้แก่ (1) การพัฒนาหลักสูตรสำหรับรองรับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยตั้งคณะทำงานเพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมการท่องเที่ยว อบก. กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมบพข. สกสว. (2) สร้างเครื่องมือวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) ซึ่งกำลังนำร่องในภาคโรงแรม และ (3) Net Zero Pathway สำหรับองค์กรทางการท่องเที่ยวที่จะมุ่งสู่ Net Zero Tourism ดำเนินการ โดย อบก.และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม 

     “เป้าหมายในอนาคตของแผนงานฯ ได้มีการตั้งเป้าหมายเส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 500เส้นทาง และในปี 2569 เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 เส้นทาง ครอบคลุม 22เมืองหลัก และ 55 เมืองรอง ในส่วนของการพัฒนาเครื่องมือ CFO ในปี 2568 จำนวน 25 รายและในปี 2569 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 100ราย พร้อมทั้งจะมีการเชื่อมโยงการทำงานกับยุโรป (เยอรมัน อังกฤษ) ออสเตรเลีย อเมริกา ในระดับธุรกิจ สมาคม และสถานทูต” ผศ.สุภาวดีกล่าว
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการชุดแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทรงธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. กล่าวว่า แผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทรงธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก บพข. ในการจัดทำมาตรฐานการท่องทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีความรู้และความเข้าใจการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์มากขึ้น พร้อมปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานระดับโลกอย่างเข้มแข็ง โดยมี อบก. เป็นผู้ประสานงานที่คอยเชื่อมโยงงานไปสู่สากล ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มเส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จึงได้มีการพัฒนาเส้นทางและนำร่องในฝั่งอ่าวไทย 3 จังหวัด ได้แก่ ตราด ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ซึ่งมี TEATA เข้ามาช่วยในการทำการตลาดต่างประเทศ เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง

     ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ รักษาการคณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และคณะนักวิจัย บพข. กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมักถูกมองว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงเล็งเห็นความสำคัญในการนำงานวิจัยที่เป็นเครื่องมือในการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเข้าไปทำให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจาก บพข. โดยกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยเข้าไปดำเนินการจะเป็นการช่วยคนในชุมชนลงมือทำ มีการปรับทัศนคติ องค์ความรู้และความเข้าใจของคำว่า การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สอนการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่าน Zero Carbon Application เพื่อให้คนในชุมชนสามารถใช้งานได้ด้วยตนเอง

     นางสาวปาริชาต สุทนรารักษ์ อุปนายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) เผยว่า TEATA ถือเป็นตัวแทนภาคผู้ประกอบการที่คอยดูแลด้านการตลาดในการนำเส้นทางคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปขายในต่างประเทศ ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าเส้นทางเหล่านี้สามารถขายได้จริง เนื่องจากมีผลงานวิจัยมารองรับและมีการทำงานระหว่างหน่วยทุน นักวิจัย ภาครัฐและภาคเอกชนที่หนุนเสริมอย่างเข้มแข็ง

    ทาง TEATA เองก็มีนโยบายการตลาดที่จะพาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดท่องเที่ยวโลกผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร การทำ Trade show / Road show ร่วมกับเอเจนท์ต่างประเทศและพัฒนาแพลตฟอร์มจำหน่ายเส้นทางทั้งกิจกรรมทางทะเลและทางบก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

     โดยได้รับความสนใจและตอบรับจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว สื่อมวลชน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจากทั่วโลก ตลอดจนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากนานาประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่เกาะเต่า และสร้างชื่อเสียงให้เกาะเต่ากลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการดำน้ำที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก ก้าวสู่การเป็น Sustainable Island Tourism Destinationสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียนสีเขียว หรือ BCG ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น