xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยท่องเที่ยว บพข.กองทุน ววน.โดดเด่นในเวทีโลก ITB 2024 หนุน TEATA ร่วมมือ 5 องค์กรระดับโลกพร้อมขายจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เข้าร่วมงาน Internationale Tourismus Borse หรือ ITB  Berlin ซึ่งเป็นมหกรรมส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของโลก จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 57 ณ ศูนย์การจัดนิทรรศการ Messe Berlin Exhibition Ground กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในครั้งนี้กองทุน ววน.โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จับมือสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย หรือ TEATA พร้อมด้วยนัตตี้ส์ แอดเวนเจอร์ส์ (Nutty's Adventures) และโรงแรมอ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ตแอนด์สปา นำผลงานวิจัยท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในเวทีโลก พร้อมหนุนเสริม TEATA ร่วมมือ MOU 5 องค์กรท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมขายจริง

งาน ITB Berlin 2024 ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม ในปีนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยโดย TEATA นัตตี้ส์ แอดเวนเจอร์ส์ และอ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ตแอนด์สปา ได้นำผลงานผลิตจากงานวิจัยท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.ที่ได้พัฒนามาเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ขายได้จริงทั้งเส้นทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์กว่า 125 เส้นทาง โปรแกรมการท่องเที่ยวที่เน้นการพำนักระยะยาว (Long Stay และ Wellness) และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ต่างได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภาคพื้นยุโรปและมีการนัดหมายเจรจาธุรกิจเพื่อที่จะเข้ามาเยือนประเทศไทยจำนวนมาก

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว.และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า ในปีนี้กองทุน ววน. โดยความร่วมมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่าง TEATA ได้เปิด 125 เส้นทางท่องเที่ยว Carbon Neutral Tourism Tour Packages ที่พร้อมขาย ในงาน ITB Berlin 2024 ซึ่งเป็นเส้นทางที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ใน 42 จังหวัด ประกอบด้วย 17 เมืองหลัก 25 เมืองรองของประเทศไทย จากการออกแบบและสร้างสรรค์ของนักวิจัยในกลุ่ม Carbon Neutral Tourism จำนวน 200 คน จาก 20 มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยโปรแกรมการท่องเที่ยว Long Stay และ Wellness รวมถึง Tourism for All ภายใต้ทุนวิจัยจาก บพข. สกสว. งบประมาณจากกองทุน ววน. โดยได้รับการสนับสนุนจาก EU SWITCH-ASIA และ European Centre for Ecological and Agricultural Tourism ในการเชื่อมโยงกับยุโรป รวมทั้งเจ้าภาพหลักอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่สนับสนุนพื้นที่บูทขนาดใหญ่ให้จัดกิจกรรมภายในงาน

"นอกจากมีการพบกับคู่ค้าในภาคพื้นยุโรปที่ได้นัดหมายไว้หลายบริษัทแล้ว ยังมีขึ้นเวทีบรรยายผลจากการที่ร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับและความสนใจอย่างดียิ่งจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภาคพื้นยุโรปที่ได้ทำการนัดหมายเพื่อร่วมเจรจาธุรกิจจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากหลากหลายประเทศ โดยผลสัมฤทธิ์จากการวิจัยด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นนี้สืบเนื่องจากการบูรณาการการทำงานร่วมกัน 3 กระทรวง 8 องค์กร ต่อเนื่องกว่า 3 ปี เห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยมีความพร้อมทั้งทีมวิจัย กระบวนการ เครื่องมือ และที่สำคัญคือ ผู้ใช้ประโยชน์ โดยในปีนี้เห็นได้ชัดว่าเข้าสู่การขยายผลอย่างเต็มตัวและเตรียมความพร้อมการท่องเที่ยวคุณภาพสู่การดำเนินการระดับ Net Zero ได้ในอนาคต ที่ตอบโจทย์แผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผน ววน.) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง รวมถึงสิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยจะเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล" ผศ.สุภาวดีกล่าวทิ้งท้าย

นางสาววสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคม TEATA และทีมอุปนายก เผยว่า ในฐานะผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข.และร่วมงานกับนักวิจัยมาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดย TEATA เข้ามาเสริมด้านการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจาก ททท.เป็นอย่างดี จนทำให้สามารถนำเส้นทาง/โปรแกรมการท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจาก TGO จำนวน 125 เส้นทาง/โปรแกรม และที่สำคัญในครั้งนี้ TEATA ได้รับความสนใจจากสมาคมท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี มูลนิธิ และบริษัทนำเที่ยวระดับโลก มีการลงนามบันทึกข้อตกลง 5 ฉบับ ระหว่าง TEATA และ 5 องค์กรพันธมิตรระดับโลก ได้แก่ (1) ATTA (Adventure Travel Trade Association) (2) Planeterra (3) EXO Foundation (4) FAR และ (5) Green Destinations Foundation ใน Thailand Stand ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในช่วงบ่ายวันที่ 6 มีนาคม 2567 ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์ของภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่เน้นการจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ด้วยการบูรณาการการทำงานระหว่างภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญในการปฏิบัติ/การสร้าง/การขยายตลาด และภาควิชาการที่มุ่งการวิจัยหนุนเสริมองค์ความรู้ผู้ประกอบการ นอกเหนือจากสร้างความร่วมมือ หรือ MOU กับองค์กรด้านการท่องเที่ยวระดับโลกที่เน้นความยั่งยืนแล้ว TEATA ยังได้นัดหมายเจรจาธุรกิจมากกว่า 35 บริษัททั่วโลก ด้วยการนำผลการวิจัยของ บพข.ที่ TEATA ได้ทำวิจัยร่วมกับนักวิจัย นักวิชาการสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อีกทั้งได้รับเชิญจาก ITB Berlin 2024 ขึ้นเวที “Switching Asian Tourism to Green, Thailand : Inspiring Innovation in Thai Sustainable Tourism” ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับ Thailand Local Global Eco Innovation Carbon Neutral Travel Routes พร้อมด้วย MR. Peter Richards, EU Switch Asia และ Mr. Naut Kusters, European Centre for Ecological and Agricultural Tourism ได้ร่วมขับเคลื่อนให้งานสำคัญนี้เป็นที่ยอมรับในภาคพื้นยุโรป นอกจากนี้ เมื่อจบภารกิจการขายผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวที่งาน  ITB Berlin 2024 แล้ว TEATA ยังมีนัดสำคัญโดยการทำ Post Event (ITB Berlin 2024) กับสถานทูตและผู้ประกอบการในประเทศเนเธอร์แลนด์อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายสำคัญ คือ การยกระดับให้การท่องเที่ยวไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพ ช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนตลอดไป

ในมุมของการหนุนเสริมทางวิชาการ รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้ทิศทางของแผนงานการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของ บพข.คมชัด เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่บรรยากาศ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษคาร์บอนให้เหลือศูนย์ของประเทศไทย รวมทั้งการใช้ธรรมชาติ (Nature-based solution) สำหรับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ นอกจากนี้มาตรฐานการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ยังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ในโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เน้นการพำนักระยะยาว (Long Stay และ Wellness) ได้รับความเชื่อมั่นและยอมรับอย่างมากจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุโรป จากการที่ได้ร่วมหารือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการขับเคลื่อนการเปิดตลาดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว โดยมีแผนการทดสอบเส้นทางการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามัน รวมถึงการเจรจาเพื่อขยายเส้นทางการบินเพื่อระบายนักท่องเที่ยวจากจังหวัดภูเก็ตที่มีเที่ยวบินและจำนวนนักท่องเที่ยวหนาแน่นมายังสนามบินนานาชาติกระบี่ที่มีความพร้อมในการรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ได้มีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ประเทศไทยมีศักยภาพและได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวนานาชาติทั้งในด้านคุณภาพและราคา ซึ่งจะนำไปสู่การขยายวันพำนัก รวมถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทำให้เกิดการสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ รักษาการคณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวหน้าโครงการการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการบนฐานอัตลักษณ์และนวัตกรรมที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่จังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง กล่าวว่า จากการดำเนินงานขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสีเขียวในพื้นที่วิจัยมายาวนานจวบจนวันนี้ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ส่งผลให้กระบี่มีความพร้อมที่จะยกระดับไปสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การประเมินคาร์บอนจากการท่องเที่ยว การลด และชดเชย ผ่านกลไกการทำงานทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่น โดยเห็นได้ชัดว่าการเดินทางของเราเป็นการเดินทางที่มีเป้าหมาย กระบี่ประกาศตัวเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่จะเป็นเมืองคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2040 เนื่องด้วยมีการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการที่ขับเคลื่อนให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง มีกิจกรรมในการชดเชยคาร์บอนเพิ่มมากขึ้นและมีองค์กรภาคเอกชนเข้ามาร่วม โดยล่าสุดจังหวัดกระบี่ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับบริษัท มิตซูบิชิ ประเทศไทย จำกัด ในการร่วมกันขับเคลื่อน Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ในมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว นางกุสุมา กิ่งเล็ก จากอ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ตแอนด์สปา เผยว่า ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้การทำงานร่วมกันกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อนำงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติและนำเสนอขายแก่ตัวแทนนำเที่ยวจากต่างประเทศในงาน ITB Belin 2024 ผลตอบรับตัวแทนบริษัทนำเที่ยวสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เป็นหนึ่งในการพำนักระยะยาว ที่มีการเชี่อมโยงกิจกรรม สปา อาหารเพื่อสุขภาพ และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง เป็นโอกาสดีที่ได้นำเสนอขายการท่องเที่ยวชุมชน ที่มีการดำเนินการภายใต้แนวคิด Carbon Neutral Tourism และการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยว และก่อให้เกิดการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังใช้เวทีในงาน ITB Berlin 2024 เป็นเวทีในการขับคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมกับหน่วยงาน

นอกจากนี้ สำหรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย บพข.ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ที่มีผู้พิการทางสายตาเข้ามาเยือนประเทศไทยหลายต่อหลายคณะจากทั่วโลก โดยการนำของ Nutty's Adventures ในฐานะผู้ประกอบการที่ร่วมกันขับเคลื่อนกับคณะผู้วิจัยจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น

นายนิธิ สืบพงษ์สังข์ ผู้ประกอบการจาก Nutty's Adventures กล่าวว่า "การมาร่วมงานในเวที ITB2024 Berlin ในครั้งนี้ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลได้รับการตอบรับจากผู้เข้ามาเจรจาธุรกิจกันอย่างเนืองแน่น และในครั้งนี้ได้รับเชิญจาก GSTC หรือ The Global Sustainable Tourism Council องค์กรผู้ทําหน้าที่กําหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจการเดินทาง และการท่องเที่ยวของโลก ให้ทาง Nutty's Adventures เป็นตัวแทนประเทศไทยขึ้นเวที "One-on-One Talk With.." ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาบรรยายประสบการณ์ โดยมีผู้ร่วมเข้าฟังกันอย่างมากมาย ทำให้เห็นว่าโครงการวิจัยเรื่องการตลาดการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล โดยการสนับสนุนจาก บพข. สกสว.และกองทุน ววน.ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในเวทีโลกนี้ สามารถวัดได้ว่างานวิจัยของไทยใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริงๆ"

ปิดท้ายความสำเร็จของการเข้าร่วมงาน ITB Berlin 2024 ยืนยันได้ว่า วงการการท่องเที่ยวไทยยืนผงาดในเวทีโลกด้วยความหวังและความมั่นคง จากความร่วมไม้ร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน ชุมชนและสังคม สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ว่า “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” เน้นเอกชนนำ-รัฐสนับสนุน มุ่งเป้า Go Green - ความยั่งยืน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวจากทั่วมุมโลกและจากทุกคนได้อย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น