xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.เผย MPI มี.ค.หดตัว 5.13% รับ ศก.ฟื้นตัวช้า เกาะติดดีเซลขยับค่าไฟสูงหวั่นกระทบระยะต่อไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13% ส่งผลให้ MPI ไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัว 3.65% จากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 8 รับเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าหลังปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เผยดีเซลขยับ 50 สต./ลิตรกระทบ 7 อุตฯ ขณะที่ค่าไฟยังสูงเกาะติดใกล้ชิดหวั่นมีผลต่อต้นทุนผลิตอาจกระทบระยะต่อไป และมีผลต่อราคาสินค้า

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.39% ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 100.85 หดตัวเฉลี่ย 3.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 60.45% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 8 จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับการส่งออกลดลงเกิดจากความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้าในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ปรับตัวลดลง

“มี.ค. 66 ฐาน MPI ค่อนข้างสูงเพราะเราเริ่มกลับมาผลิตสินค้าเต็มที่เลยทำให้มี.ค. 67 ติดลบสูง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม รวมถึงการเร่งใช้งบประมาณปี 2567 ของรัฐบาล คาดว่าจะส่งผลบวกให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น” นางวรวรรณกล่าว


ทั้งนี้ สศอ.ได้มีการหารือถึงผลกระทบกรณีที่มีการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลทุกชนิด 0.50 บาทต่อลิตร ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2567 ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเป็น 30.94 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ต้นทุนผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลค่อนข้างสูง ซึ่งประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 2. การฟอกและย้อมผ้า 3. เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน 4. ปูนซีเมนต์ 5. ผลิตภัณฑ์จากโลหะ 6. แก้วและผลิตภัณฑ์แก้ว 7. เสื้อผ้าและสิ่งทอ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันค่าไฟฟ้าของไทยเฉลี่ย 4.18 บาทต่อหน่วยก็ยังอยู่ระดับที่สูงจึงทำให้ภาพรวมต้นทุนการผลิตอาจได้รับผลกระทบในช่วง พ.ค.-ส.ค.นี้อาจทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นกระทบค่าครองชีพของประชาชน และเกิดภาวะเงินเฟ้อซึ่ง สศอ.จะติดตามใกล้ชิดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น