xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดีหรือข่าวร้าย?!? เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกขยายตัวเกินคาด แต่นักวิเคราะห์ยังกังวล ‘ภาคอสังหาฯ’ ตัวถ่วงสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พนักงานทำงานอยู่ในโรงงานผลิตเครื่องยนต์แห่งหนึ่ง ที่เมืองชิงโจว มณฑลซานตง  ทางภาคตะวันออกของจีน ในภาพซึ่งถ่ายเอาไว้ในวันอังคาร (16 เม.ย.) ทั้งนี้ทางการจีนแถลงในวันเดียวกันนี้ว่า จีดีพีของจีนในไตรมาสแรกปีนี้สามารถเติบโตด้วยอัตรา 5.3%
เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกขยายตัวเกินคาด ทั้งนี้ตามตัวเลขข้อมูลที่เผยแพร่ในวันอังคาร (16 เม.ย.) ช่วยบรรเทาความกังวลของทางการแดนมังกรซึ่งกำลังพยายามผลักดันอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ ท่ามกลางความอ่อนแออย่างยืดเยื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ และยอดหนี้สินของพวกรัฐบาลระดับท้องถิ่นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางเศรษฐกิจของเดือนมีนาคมหลายๆ ตัว ที่มีการเผยแพร่ออกมาคราวเดียวกันนี้ โดยเฉพาะยอดการลงทุนของภาคที่อยู่อาศัย ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงน่าผิดหวัง บ่งชี้ว่าปักกิ่งยังต้องเผชิญอุปสรรคอีกมากเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตประจำปี

ตามการแถลงในวันอังคารของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (เอ็นบีเอส) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรก (เดือนม.ค.-มี.ค.) ปีนี้ ขยายตัว 5.3% ดีกว่าที่ทำไว้ 5.2% ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่ามากจากตัวเลขคาดการณ์โดยเฉลี่ยของพวกนักวิเคราะห์จากการสำรวจความเห็นของรอยเตอร์ ซึ่งให้ไว้ที่เพียงแค่ 4.6%

เอ็นบีเอสระบุว่า เศรษฐกิจยังมีโมเมนตัมที่ดีในการฟื้นตัวและถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ขณะที่ เมอร์ฟีย์ ครูซ นักเศรษฐศาสตร์ของมูดีส์ แอนาลิติกส์ ให้ความเห็นว่า จีดีพีจีนยังอยู่บนเส้นทางยาวไกลที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างเป็นทางการซึ่งตั้งไว้ที่ 5% สำหรับปีนี้ และเสริมว่า แม้ผลผลิตอุตสาหกรรมสามารถขยายตัวตลอดไตรมาสแรก แต่ข้อมูลอื่นๆ ยังน่ากังวล ซึ่งรวมถึงการที่ภาคครัวเรือนยังคงชะลอการใช้จ่าย

ทั้งนี้ ไม่ว่ายอดค้าปลีกที่ถือเป็นดัชนีหลักบ่งชี้การใช้จ่ายภาคครัวเรือน หรือว่าผลผลิตอุตสาหกรรมต่างก็ลดต่ำลงในเดือนมีนาคม โดยยอดค้าปลีกแม้สูงขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ลดลงจากระดับ 5.5% ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เช่นเดียวกับผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 4.5% หากเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากระดับ 7% ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ฟิทช์ 1 ใน 3 บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้งรายยักษ์ของโลกได้ลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของเครดิตจีนจากระดับ “มีเสถียรภาพ” มาเป็น “ติดลบ” โดยให้เหตุผลอ้างอิงความเสี่ยงด้านการคลัง ขณะที่ปักกิ่งกำลังเพิ่มการอัดฉีดสนับสนุนภาคโครงสร้างพื้นฐานและการผลิตภาคไฮเทค โดยมองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาวะที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและภาคธุรกิจยังขาดความเชื่อมั่นในการขยายตัว

เกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจที่เผยแพร่ล่าสุดคราวนี้ แดน หวัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของฮั่งเส็ง แบงก์ ไชน่า ยอมรับว่า ออกมาดีกว่ามากจากการคาดหมายของตลาด แต่เธอมองว่า การบริโภคและการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยยังเป็นตัวถ่วงสำคัญ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคโครงสร้างพื้นฐานกำลังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายในขั้นพื้นฐานจากการมุ่งเน้นตลาดผู้บริโภคและภาคบริการ มาเป็นการเน้นการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม

กระนั้น พวกนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกยังคงย้ำว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นอุปสรรคสำคัญของเศรษฐกิจจีน จากการเป็นตัวบ่อนทำลายความเชื่อมั่นทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค แผนการลงทุน การตัดสินใจว่าจ้าง และราคาหุ้น

ในเดือนที่ผ่านมาราคาบ้านใหม่ลดลงแรงสุดในรอบกว่า 8 ปี เนื่องจากปัญหาหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ฉุดดีมานด์ผู้บริโภค เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทชั้นนำที่รวมถึงคันทรี การ์เด้น และแวนกี้ ต่างประกาศเตือนเกี่ยวกับผลกำไรและความท้าทายในการชำระหนี้ของตัวเอง

พวกนักลงทุนต่างเฝ้ารอการประชุมคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายที่จะจัดขึ้นในเดือนนี้ แม้มีนักวิเคราะห์เพียงไม่กี่คนที่คาดว่า จะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็ตาม

ขณะเดียวกัน แม้ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน หรือแบงก์ชาติแดนมังกร ให้คำมั่นออกนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มอีกในปีนี้ โดยตลาดคาดหวังการลดอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์และการลดอัตราดอกเบี้ย

ทว่า นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า ธนาคารกลางจีนกำลังเผชิญความท้าทายจากการที่สินเชื่อจำนวนมากไหลไปยังภาคการผลิตมากกว่าการบริโภค ทำให้เกิดข้อบกพร่องเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจ และลดประสิทธิภาพของเครื่องมือนโยบายทางการเงิน

ความท้าทายของเศรษฐกิจจีนยังรวมถึงความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องกับอเมริกาในประเด็นปัญหาการค้า เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์

จินหยู ต่ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบีบีวีเอ รีเสิร์ช เชื่อว่า พื้นฐานการฟื้นตัวของจีนยังไม่มั่นคง โดยการปรับตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์และหนี้ภาครัฐยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ นอกจากนั้น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับอเมริกาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในอนาคตอันใกล้

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น