นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (15 พ.ย.) ที่ระดับ 35.53 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมากจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.06 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.65 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนใกล้โซนแนวรับหลัก 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 35.51-36.10 บาทต่อดอลลาร์) หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด พร้อมกลับมาเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว -1% ในปีหน้า ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้ส่งผลให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดิ่งลงหนัก หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นแรงใกล้โซนแนวต้านสำคัญ จนผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา นั้น “เร็ว” “แรง” กว่าที่เราประเมินไว้มาก (เราคาดว่าเงินบาทอาจติดอยู่แถวโซนแนวรับ 35.85 บาทต่อดอลลาร์) ทำให้เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจชะลอลงได้บ้าง ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิเคิลใน Time Frame ระยะสั้น อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวันเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาดีกว่าคาด และหนุนให้ทั้งเงินหยวน รวมถึงสกุลเงินฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจกลับมาเป็นฝั่ง “ซื้อสุทธิ” ได้ โดยเฉพาะในฝั่งตลาดบอนด์ หลังบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลงหนักในช่วงคืนที่ผ่านมา ขณะที่ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นอาจยังมีความผันผวนและมีทิศทางไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับหลัก 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ เราประเมินว่าโซนแนวรับถัดไปอาจอยู่ในช่วง 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของจีน รวมถึงรายงานข้อมูลยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ในคืนนี้ แต่หากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง เราประเมินว่าเงินบาทอาจติดโซนแนวต้านแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน (ช่วง 9.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า เศรษฐกิจจีนแม้จะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในเดือนตุลาคม สะท้อนผ่านยอดค้าปลีกที่อาจโต +7.7%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) อาจขยายตัว +4.5% และ +3.1% ตามลำดับ โดยหากรายงานข้อมูลดังกล่าวออกมาดีกว่าคาดอาจส่งผลให้เงินหยวนจีน รวมถึงสกุลเงินฝั่งเอเชียสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นได้
ถัดมาในช่วงบ่าย ราว 14.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ ในเดือนตุลาคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่องอาจเป็นสัญญาณว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มที่จะจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้วเช่นกัน หลังภาพรวมเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงมากขึ้น
และอีกไฮไลต์สำคัญที่อาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนได้ จะอยู่ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม ซึ่งหากออกมาแย่กว่าคาด โดยเฉพาะในส่วนของยอดค้าปลีกพื้นฐานและ Control Group จะสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่าเฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ว่าสภาคองเกรสจะสามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะ Government Shutdown ได้หรือไม่ พร้อมกับรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีก เช่น Target, TJ Max ซึ่งจะช่วยสะท้อนภาพการใช้จ่ายในฝั่งสหรัฐฯ ได้