สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 66 หดตัว 6.27% ส่งผลให้ทั้งปี 2566 MPI อยู่ที่ระดับ 93.05 หดตัว5.11% จากเศรษฐกิจทั้งในและโลกชะลอตัวฉุดกำลังซื้อ และการส่งออก แต่ยังคงMPI GDPอุตสาหกรรมปี 2567 โต 2-3%
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธ.ค.66 อยู่ที่ระดับ 87.76 หดตัว 6.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งผลให้ภาพรวม MPI ตลอดปี 2566 อยู่ที่ระดับ 93.05 หดตัว 5.11% จากปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนธ.ค.66 อยู่ที่ 55.25% และทั้งปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 59.06%
“ ยอมรับว่าMPI หดตัวกว่าที่คาดไว้หากพิจารณาปัจจัยหลักๆ มาจากภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงสูงส่งผลต่อกำลังซื้อลดลง รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงกระทบต่อการเช่าซื้อรถยนต์ลดลงตามไปด้วย แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปี 66 จะช่วยหนุนการใช้จ่ายแต่ก็พบว่านักท่องเที่ยวจีนที่ใช้จ่ายในไทยสูงมาต่ำ ขณะที่ส่งออกทั้งปีติดลบ 1% จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งทำให้ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเองก็มองว่าจีพีดีของไทยปี 2566 จะโตเพียง 1.8% และเมื่อมองมาที่อุตสาหกรรมพบว่าอยู่ในแดนลบค่อนข้างเยอะ”นางวรรณกล่าว
อย่างไรก็ตามสศอ.ยังคงประมาณการMPI และผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP)ภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 จะขยายตัว 2.0 – 3.0 % จากปี 2566 โดยคงจะต้องติดตามผลสรุปตัวเลข GDP ของปี 2566 ที่ชัดเจนจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) อีกครั้ง
สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมกราคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากปัจจัยภายในประเทศ จากดัชนีปริมาณสินค้านำเข้าของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเป็นส่วนใหญ่ ทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ที่ส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง การลงทุนภาคเอกชนของไทยยังคงทรงตัว และความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทยปรับเพิ่มเล็กน้อย ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง และมีความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งผู้นำของคู่ค้าสำคัญทั้ง อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงความผันผวนการเงินโลก และเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว
“ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่เพื่อเป็นการยกระดับและ ขยายมูลค่าการส่งออกของสินค้าไทย ภาคการผลิตของไทยควรมุ่งเน้นไปที่สินค้าที่โลกมีความต้องการ บนพื้นฐานของศักยภาพที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าการส่งออกสินค้าพื้นฐานหรือแปรรูปขั้นต้น ซึ่งมีมูลค่าน้อย” นางวรวรรณ กล่าว