xs
xsm
sm
md
lg

ดันสนามบินพะเยา ชง ครม.สัญจรของบปี 68 ออกแบบ-ศึกษา EIA

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” ร่วมคณะนายกฯ ลงพื้นที่พัฒนาสนามบินพะเยา ชงของบปี 68 กว่า 42 ล้านบาทออกแบบฯ และศึกษารายงาน EIA หลังผลศึกษาชี้ลงทุนคุ้มค่า คาดปริมาณผู้โดยสารช่วงแรก 99,191 คนต่อปี บริการ 2 เที่ยวบินต่อวัน ดันพะเยาเมืองรอง ตอบโจทย์รัฐบาล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดพะเยาเพื่อหารือแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบินพะเยา โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ในวันที่ 18 มีนาคม 2567 ณ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา


นายสุริยะกล่าวว่า แผนการพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบินพะเยาในพื้นที่ตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้ ซึ่งที่ผ่านมากรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา โดยได้สำรวจออกแบบเบื้องต้น และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2564 ซึ่งผลการศึกษาความเป็นไปได้พบว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งท่าอากาศยานที่เหมาะสม คือ ตำบลดอนศรีชุม และตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ ห่างจากตัวเมืองพะเยา 20 นาที

สำหรับการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จากการศึกษากรณีวิเคราะห์สถานการณ์สูง (High Case) ในปี 2570 ช่วงแรกจะมีจำนวนผู้โดยสาร 99,191 คนต่อปี และ 2 เที่ยวบินต่อวัน


นายสุริยะกล่าวว่า จังหวัดพะเยาเป็น 1 ใน 2 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ไม่มีสนามบิน โดยมีประชากรกว่า 4 แสนคน (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2567) รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยพะเยา และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่เป็นที่นิยม เช่น ภูลังกา ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง การมีระบบคมนาคมที่สะดวกปลอดภัยจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวกระจายตัวไปเมืองรองเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน


ด้านความคืบหน้าโครงการฯ อยู่ระหว่างจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าจ้างออกแบบงานก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน องค์ประกอบอื่นๆ และศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงินงบประมาณ 42.6926 ล้านบาท

ปัจจุบันการเดินทางมาจังหวัดพะเยาโดยเครื่องบินจะไปลงท่าอากาศยานของจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งหากจังหวัดพะเยามีสนามบินที่ไม่ห่างจากตัวเมืองจะเป็นทางเลือกการเดินทางที่ทำให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาจังหวัดพะเยาได้สะดวกขึ้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุนในพื้นที่ได้อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น