xs
xsm
sm
md
lg

“เศรษฐา” ชี้ต้องศึกษาให้ดีก่อนผุดสนามบินพะเยา พบห่างสนามบินแม่ฟ้าหลวง 112 กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พะเยา - “นายกฯ เศรษฐา” ย้ำหลังลงพื้นที่ดอกคำใต้-จุดเป้าหมายผลักดันสร้างสนามบินพะเยา บอกต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน เผยอยู่ห่างจากสนามบินแม่ฟ้าหลวง 112 กม.


กรณีส่วนราชการใน จ.พะเยามีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.) ครั้งที่ 2/2567 วันที่ 19 มี.ค.นี้ที่ จ.พะเยา เพื่อให้ผลักดันการก่อสร้างสนามบินพะเยานั้น ล่าสุดก่อนการประชุม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางลงไปในพื้นที่ ต.ดอนศรีชุม และ ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนให้การต้อนรับ โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่าจะมีการศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนดำเนินการ

ด้านเพจ "โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure" ระบุว่า สนามบินพะเยาได้ตำแหน่งที่ชัดเจนคือ อ.ดอกคำใต้ เพราะพะเยาอยู่ระหว่าง จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง ซึ่งมีสนามบินแล้วและในอนาคตจะมีเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงรายผ่านอีก จึงมีการศึกษาและเปรียบเทียบตำแหน่งก่อสร้างสนามบิน 5 จุดรอบ อ.เมืองพะเยา และได้ข้อสรุปที่ อ.ดอกคำใต้ โดยอยู่ใกล้ถนนหมายเลข 1021 ห่างจาก อ.เมืองพะเยา 20 กิโลเมตร จะใช้พื้นที่ทั้งหมด 2,812 ไร่ แบ่งเป็น Landside 1,862 ไร่ และ Airside 1,350 ไร่ แนวคิดคือรองรับเครื่องบิน A320 และ 737 ทางวิ่งกว้าง 45 เมตร ยาว 2,500 เมตร มีหลุมจอด 2 หลุม อนาคตสามารถขยายได้ถึง 3 หลุม พร้อมรองรับการติดสะพานเทียบเครื่องบิน

คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 78,000 คนต่อปีในปีแรก และขยายถึง 320,000 คนในปี 2600 มูลค่าการก่อสร้างโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท และมูลค่าการเวนคืน (จากการประเมินปี 2562) ประมาณ 1,700 ล้านบาท มูลค่าการดูแลรักษาสนามบิน ตลอด 30 ปี ประมาณ 720 ล้านบาท คาดว่าจะเวนคืนเสร็จในปี 2569 และก่อสร้างปี 2569-2572

รายงานข่าวแจ้งว่า หากแล้วเสร็จสนามบินพะเยาจะตั้งอยู่ห่างจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย ประมาณ 112 กิโลเมตร ทั้งนี้เมื่อปี 2563 ฝ่ายปกครอง จ.พะเยา เคยประชุมหารือและพบว่าเทศบาล ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา มีโครงการศึกษาความเหมาะสมจะก่อสร้างสนามบินพะเยาเช่นเดียวกัน โดยตำบลแม่กาอยู่ติดถนนพหลโยธินและ จ.ลำปาง มีระยะทางห่างจากตัวเมืองพะเยาใกล้เคียงกับ อ.ดอกคำใต้ ขณะนี้ทางจังหวัดมอบหมายให้มหาวิทยาลัยพะเยาทำการศึกษา เบื้องต้นกำหนดพื้นที่ ต.แม่กา และ ต.จำป่าหวาย อ.เมืองพะเยา พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2,500 ไร่ อย่างไรก็ตาม กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ที่ อ.ดอกคำใต้ดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น