“มนพร” ตรวจทางหลวงหมายเลข 1020 เชียงราย-อ.เชียงของ ตอน อ.เทิง-บ.ต้า ยาว 16 กม. ค่าก่อสร้าง 998.9 ล้านบาท เร่งเสร็จ ส.ค. 67 เดินหน้าสำรวจออกแบบถนน 4 เลนเชื่อมด่านชายแดนบ้านฮวก พร้อมชงงบปี 68 สร้างทางลอดหน้าม.พะเยาแก้รถติด
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายทางถนน จ.เชียงราย-พะเยา พร้อมทั้งรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชน
นางมนพรกล่าวว่า ได้ติดตามโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1020 เชียงราย-อ.เชียงของ ตอน อ.เทิง-บ.ต้า เพื่อเพิ่มความจุของถนน รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น ระยะทาง 16 กิโลเมตร (กม.) วงเงินค่าก่อสร้าง 998.9 ล้านบาท กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2567
จากนั้น รมช.คมนาคมได้ลงพื้นที่ด่านชายแดนบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา ร่วมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อรับฟังข้อเสนอจากทางจังหวัดที่ขอให้กรมทางหลวงเร่งรัดดำเนินการสำรวจและออกแบบถนนให้เป็นเส้นทาง 4 ช่องจราจร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็วขึ้น
และเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยพะเยา ติดตามโครงการก่อสร้างทางลอดหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ที่อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณก่อสร้างในปีงบประมาณ 2568 เนื่องจากปัจจุบันทางเข้ามหาวิทยาลัยพะเยามีการจราจรที่หนาแน่น และมีแนวโน้มการสัญจรที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าประกอบกับมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กรมทางหลวงจึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ ระหว่างจุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 กับทางเข้ามหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งมุ่งเน้นการทำให้การจราจรมีความคล่องตัว มีความปลอดภัยลดผลกระทบต่อชุมชน โดยการศึกษาที่เหมาะสมคือออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับแบบวงเวียน โดยก่อสร้างทางลอดบนทางหลวงหมายเลข 1 ทำให้การเดินทางเป็นอิสระ (free flow) และการจัดการจราจรบริเวณจุดตัดเป็นวงเวียน (Roundabout) มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 1.7 กม.
นางมนพรกล่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาโครงข่ายทางถนน จ. เชียงราย-พะเยา เพื่อติดตามความก้าวหน้า และรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการพัฒนาเส้นทางคมนาคมดังกล่าวทำให้เพิ่มประสิทธิภาพแก้ไขปัญหาด้านการจราจร สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคต ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและลดการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการคมนาคมขนส่งโดยรวม
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ได้เน้นย้ำในเรื่องการก่อสร้างให้เคร่งครัดในมาตรการความปลอดภัย และการเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนมีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในการขนส่งสินค้าและท่องเที่ยวของประเทศให้ดีขึ้น