xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโฉม! รถไฟท่องเที่ยวขบวนใหม่ SRT ROYAL BLOSSOM ดัดแปลงจากญี่ปุ่น พร้อมบริการกลางปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ รฟท.โชว์รถไฟท่องเที่ยวขบวนใหม่ SRT ROYAL BLOSSOM ชุดแรก 5 คัน ดัดแปลงมาจากรถญี่ปุ่น Hamanasu ดีไซน์สุดสวยสีแดงเชอร์รีคาดทอง ตกแต่งด้วยไม้สนซีดาร์ กระจกกว้างพิเศษ ตั้งเป้าเปิดให้บริการกลางปี 67 เล็งเส้นทางกาญจนบุรี, ฉะเชิงเทรา, หัวหิน

วันที่ 15 มี.ค. 2567 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำคณะสื่อมวลชนชมขบวนรถไฟท่องเที่ยว "SRT Royal Blossom" ซึ่งเป็นขบวนรถโดยสารที่ รฟท.ได้รับมอบจากประเทศญี่ปุ่น และนำมาดัดแปลงเป็นขบวนท่องเที่ยว แล้วเสร็จชุดแรกจำนวน 5 คัน และได้นำขบวนพ่วงทดสอบความสมบูรณ์

นายนิรุฒเปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้รับมอบรถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศ Hamanasu (ฮามานะสุ) จากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 10 คัน ประกอบด้วย รถรุ่น SUHAFU (มีเครื่องยนต์ปั่นไฟ) 5 คัน และรถรุ่น OHA (ไม่มีเครื่องยนต์ปั่นไฟ) 5 คัน ซึ่งเมื่อตนได้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟท.เห็นขบวนรถจอดอยู่ที่ศรีราชา และพบว่าโครงสร้างรถยังดี จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายการช่างกลดำเนินการปรับปรุงตู้โดยสารให้มีความพร้อมสำหรับใช้เป็นขบวนรถไฟท่องเที่ยว เพื่อช่วยเสริมศักยภาพในการเดินทาง และการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างงาน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นตามนโยบายของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

การปรับปรุงรถเป็นฝีมือคนไทยทั้งหมด โดยแนวคิดต้องการให้เป็นรถเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ มีสันทนาการบนรถ ออกแบบหน้าต่าง บานกระจกกว้างเป็นพิเศษ เพื่อให้สัมผัสบรรยากาศวิวสองข้างทางอย่างเต็มที่ มีมุมคาเฟ่บริการ สร้างความรู้สึกว่าได้ท่องเที่ยวอย่างเต็มที่


ล่าสุดฝ่ายการช่างกล การรถไฟฯ ได้แจ้งถึงการปรับปรุงรถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศ Hamanasu ชุดแรกใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว จำนวน 5 คัน ภายใต้ชื่อ “SRT Royal Blossom” โดยจะใช้สำหรับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องหลังจากประสบความสำเร็จในการปรับปรุงขบวนรถไฟท่องเที่ยว KIHA 183 ที่สามารถสร้างรายได้ให้การรถไฟฯ และสร้างความประทับใจแก่ประชาชนนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

ปัจจุบันตู้ SRT Royal Blossom อยู่ระหว่างทดสอบความพร้อมและความปลอดภัยของระบบ และเมื่อทดสอบแล้วเสร็จมีกำหนดเริ่มให้บริการท่องเที่ยวช่วงกลางปี 2567 ในเส้นทางระยะสั้นแบบวันเดย์ทริป/พักค้างคืน และให้บริการในช่วงเทศกาลสำคัญ หรือให้บริการเช่าเหมาขบวน ตามความเหมาะสมต่อไป

"ช่วงแรกมองเส้นทางที่มีศักยภาพทางท่องเที่ยว เช่น กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา หัวหิน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ส่วนราคาประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ส่วนรถชุดที่ 2 อีก 5 คัน นั้นคาดว่าจะปรับปรุงเสร็จปลายปีนี้"


นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ รฟท.ให้รายละเอียดการปรับปรุงว่า ภายนอกตู้ SRT Royal Blossom ถูกแต่งแต้มสีสันภายนอกด้วยสีแดงเชอร์รีคาดทอง ส่วนภายนอกตัวรถ ได้มีการทำสีใหม่ให้เป็นเฉดสีแดงคาดลายสีทอง ซึ่งเป็นสีของกลีบดอกไม้ที่มีความสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของขบวนรถไฟท่องเที่ยวชุดนี้ ส่วนด้านหน้าและด้านข้างตัวรถจะมีสัญลักษณ์เป็นโลโก้ “STATE RAILWAY OF THAILAND ROYAL BLOSSOM SINCE - 2022 คู่กับดอกราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ ๑๐ ถูกวางบนหน้าปัดนาฬิกา ตัวเลขโรมัน และเข็มนาฬิกาชี้ไปที่ตัวเลข 13 เป็นการเปรียบเทียบถึงการเดินทางครั้งใหม่ของ Hamanasu จนเป็น SRT Royal Blossom ซึ่งจะสร้างช่วงเวลาแห่งความสุขและความพิเศษที่จะเกิดขึ้นกับการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟในประเทศไทย

สำหรับการตกแต่งภายในตัวรถ ได้ทำการตกแต่งด้วยความพิถีพิถัน โดยทำเบาะหุ้มที่นั่งใหม่เป็นเบาะกำมะหยี่ เปลี่ยนผ้าม่านที่สามารถปรับระดับได้ เปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นหลอด LED รวมถึงส่วนประกอบหลักของงานตกแต่งที่ทำจากไม้สนซีดาร์ เป็นเนื้อไม้ที่มีความสวยงามและทนทานต่อการใช้งาน การติดตั้งบันไดทางขึ้น-ลง ที่ใช้สำหรับรองรับชานชาลาสูงและต่ำ โดยใช้วัสดุจากไม้สักและขลิบด้วยทองเหลืองแท้ที่พับเก็บได้ ตลอดจนการออกแบบหน้าต่างพร้อมกรอบโลหะสีทอง ที่มีขนาดความกว้างพิเศษ สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้กว้างกว่ารถโดยสารทั่วไป และยังติดตั้งเครื่องฟอกอากาศทุกตู้

ขณะที่งานด้านเทคนิค มีการปรับปรุงระบบห้ามล้อ และปรับปรุงแคร่และความกว้างของเพลาล้อใหม่ จากเดิม 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย การปรับปรุงระบบปรับอากาศ การปรับปรุงระบบไฟฟ้าโดยใช้เครื่องยนต์จากรถ Power Car ในการจ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดมลภาวะทางเสียงและอากาศ เปลี่ยนปลั๊กไฟจาก 110 โวลต์ ที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น ให้เป็น 220 โวลต์ โดยได้ติดตั้งปลั๊กแบบมาตรฐาน และ USB Port เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน และเปลี่ยนห้องสุขาให้เป็นระบบสุญญากาศระบบเดียวกับเครื่องบิน เปลี่ยนถังเก็บน้ำให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม รวมถึงเปลี่ยนชุดหัวสูบถ่ายจากถังเก็บสิ่งปฏิกูลที่สามารถใช้ร่วมกับรถโดยสารอื่นได้


สำหรับตู้โดยสารทั้ง 5 คัน แบ่งออกเป็น

ตู้ที่ 1 Group Car จำนวน 1 คัน โดยดัดแปลงให้เป็นห้องโดยสารแบบกลุ่มส่วนตัว จำนวน 4 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องสามารถรองรับได้ 4-6 คน สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้กว่า 180 องศา ประตูเซ็นเซอร์ มีทางเดินที่กว้างขวาง สะดวกสบายรองรับรถวีลแชร์ นอกจากนี้ ยังมีมีลิฟต์ขนาดใหญ่ จำนวน 2 ตัว และห้องน้ำสำหรับรองรับผู้พิการด้วย

2. รถโดยสาร Passenger Car จำนวน 3 คัน โดยดัดแปลงเป็นห้องโดยสารแบบรวม มีทั้งหมด 48 ที่นั่ง/คัน โดยที่นั่งมีทั้งแบบหันหน้าเข้าหาหน้าต่างเพื่อชมวิว หรือปรับเบาะหันหน้าเข้าหากันเพื่อทำกิจกรรมในกลุ่มเพื่อนได้ พร้อมทั้งช่องเสียบสาย USB ทุกที่นั่ง ซึ่งแต่ละตู้จะมีเบาะที่นั่งที่มีสีสันต่างกัน สื่อถึงการเดินทางในแต่ละครั้งผู้โดยสารจะได้รับความประทับใจที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เปรียบเหมือนการเบ่งบานของดอกไม้ในแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ ยังมีอีก 8 ที่นั่งที่แยกออกมาสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว


3. รถโดยสาร Leisure Car จำนวน 1 คัน โดยดัดแปลงให้เป็นรถเสบียง สำหรับให้บริการอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้โดยสารสามารถมาใช้บริการหรือซื้อกลับไปรับประทานที่ตู้โดยสารได้ ภายในออกแบบเคาน์เตอร์บาร์ให้อยู่ตรงกลางทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินด้านข้างได้ทั้ง 2 ด้าน มีพื้นที่กว้างขวางสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ และกระจกมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษสามารถนั่งชมวิวทิวทัศน์ได้อย่างสบาย นอกจากนี้ บริเวณด้านท้ายตู้มีพื้นที่โล่งที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถมายืดเส้นยืดสายพักผ่อนอิริยาบถได้อีกด้วย

ส่วนขบวนรถที่เหลืออีก 5 คัน การรถไฟฯ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการปรับปรุง คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงกลางปี 2567


ทั้งนี้ ตู้รถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศ Hamanasu ของประเทศญี่ปุ่นผลิตเมื่อปี ค.ศ. 1988 เคยให้บริการเป็นขบวนรถด่วนที่มีชื่อว่า Hamanasu เส้นทางเชื่อมระหว่างเกาะฮอกไกโดข้ามไปเกาะฮอนชู จากสถานีซับโปโรไปถึงสถานีอะโอโมริ และให้บริการเที่ยวสุดท้ายที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 โดยชื่อ Hamanasu หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ดอกกุหลาบญี่ปุ่น ถือเป็นดอกไม้ประจำเกาะฮอกไกโดนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริการขบวนรถไฟท่องเที่ยวใหม่ SRT Royal Blossom จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ ตลอดจนเป็นการเปิดประสบการณ์เดินทางใหม่ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้เกิดความประทับใจ รวมถึงช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงทางรถไฟให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืนสืบไป


กำลังโหลดความคิดเห็น