ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวแต่ยังเปราะบางอยู่ แม้ว่าจะมีแรงหนุนภาคการท่องเที่ยว การกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจในเอเชียที่ฟื้นดีขึ้น แต่ภาคการผลิตยังหดตัว เนื่องจากสินค้าไทยหลายรายการเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลต่อราคาพลังงาน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า กดดันให้ธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่กับการดำเนินธุรกิจแบบ ESG เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะที่ประเทศไทยเจอความท้าทายที่หลากหลายในปีที่ผ่านมาทั้งเศรษฐกิจโลกผันผวน-เปลี่ยนผ่านรัฐบาลช้ากระทบงบประเทศ วิกฤตหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยสูง ทำให้ GDP เติบโตได้ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้โตเพียง 1.9% ต่ำกว่าศักยภาพและต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ผลประกอบการงวดปี 2566 ของ ปตท.และบริษัทย่อยในตลาดหุ้นทั้ง 6 บริษัทพบว่ามีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 223,960 ล้านบาท ยกเว้น บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ที่ยังคงขาดทุนสุทธิ 2,923 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่าปี 2565 ที่กลุ่ม ปตท.มีกำไรสุทธิ 206,005 ล้านบาท เนื่องจาก บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) และ IRPC มีผลขาดทุนสุทธิรวมกัน 13,116 ล้านบาท
ในปี 2566 บมจ.ปตท. (PTT) มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 112,024 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ราว 22.9% บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มีกำไรสุทธิ 76,706 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 8.18% บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) มีกำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 3,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 314% บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) มีกำไรสุทธิ 999 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 111%% บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) กำไรสุทธิ 11,094 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อน 7% ส่วน บมจ.ไทยออยล์ (TOP) มีกำไรสุทธิ 19,443 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 40.48% และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ขาดทุนสุทธิ 2,923 ล้านบาท ดีขึ้น 33% จากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิถึง 4,364 ล้านบาท
แม้ว่า ปตท.มีกำไรสุทธิในงวดปี 2566 ทะลุแสนล้านบาทอีกครั้ง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับยอดขายที่ระดับ 3,144,551 ล้านบาท ถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ โดยกำไรสุทธิคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.6% ของยอดขายรวม
ส่วนกำไร ปตท.ที่เพิ่มขึ้นในปี 2566 มาจากการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกว่า 13,000 ล้านบาท ผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปี 2566 แม้ว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ของกลุ่ม ปตท.ปรับลดลง สาเหตุหลักมาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ที่มีกำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ลดลง และมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง และกำไรส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของบริษัทในกลุ่ม ปตท.ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทย่อยอื่นๆ ซึ่งมีผลการดำเนินงานจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น จากบริษัท Avaada Energy Private Limited ที่มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย และจากบริษัท Lotus Pharmaceutical Company Limited (Lotus) ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาสามัญในประเทศไต้หวัน เป็นต้น
จับตา! ผลดำเนินงาน Q1/67
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในปี 2567 พบว่า ปตท.มีความเสี่ยงจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเป็นแบบ Single Pool Gas ส่งผลให้ต้นทุนของโรงแยกก๊าซฯ เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ผลการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซฯ ของ ปตท.จะปรับตัวลดลงราว 6,500 ล้านบาท แม้ว่าภายหลังทาง ปตท.ประเมินว่าตัวเลขน่าจะได้รับผลกระทบต่ำกว่าที่คาด แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สั่งให้ ปตท.ส่งคืนค่าปรับการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯ ได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซฯ (Shortfall) ที่แหล่งเอราวัณจำนวน 4,300 ล้านบาทเพื่อมาปรับลดค่าไฟฟ้าในงวด ม.ค.-เม.ย. 2567 โดย ปตท.ได้มีการจ่ายค่า Shortfall ตามมติ กกพ.ย่อมส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ ปตท.ในไตรมาส 1/2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของบริษัทลูกเข้ามาช่วยเสริมก็ตาม
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ในปี 2567 คาดการณ์ราคาน้ำมันจะอยู่ในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันดิบโลกอยู่ที่ 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติจะลดลงมาอยู่ในกรอบ 7-12 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ทั้งนี้คงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะรุนแรงขึ้น สภาพเศรษฐกิจของโลกที่จะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อการผลิตและการใช้พลังงาน
"การสร้างความมั่นคงพลังงานให้ประเทศถือเป็นภาระหน้าที่ของ ปตท. ไม่ว่าหน้าตาของพลังงานโลกและประเทศจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ปตท.ก็ต้องตามไปทำ ที่ผ่านมามีปัจจัยเสี่ยงส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สภาวะภูมิอากาศ และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว" นายอรรถพลกล่าวไว้
เมื่อโลกเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ดังนั้น ปตท.จึงกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” “ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังงานแห่งอนาคต” ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย ปตท. มุ่งเน้นปรับเปลี่ยนธุรกิจ (Business Diversification) ไปสู่การเติบโตในธุรกิจพลังงานอนาคต และธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน สอดรับกับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง กระแสของโลกในอนาคต โดยจะมีทั้งการลงทุนในธุรกิจดังนี้ คือ Future Energy หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน โดยปตท.ได้เพิ่มเป้าหมายการผลิตพลังงานหมุนจาก 12 กิกะวัตต์ (GW) เป็น 15GW ในปี 2573 ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงศึกษาโอกาสในไฮโดรเจน เชื่อว่าหากเทคโนโลยีทันสมัยและได้รับการอุดหนุนจนทำให้มีต้นทุนไฮโดรเจนต่ำ ก็มีความเหมาะสมในการนำไฮโดรเจนไปใช้ในอุตสาหกรรม ส่วนการนำไปใช้ในภาคการคมนาคมหรือยานยนต์นั้นอาจจะพัฒนาได้ยาก เนื่องจากตอนนี้ถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่ายจากกลุ่มประเทศญี่ปุ่นที่เห็นด้วยและเร่งพัฒนาใช้ไฮโดรเจนกับกลุ่มประเทศอื่นอย่างจีนที่ยังมองเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
Beyond หรือนอกเหนือธุรกิจพลังงาน ได้แก่วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) เช่น ธุรกิจยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่ง ปตท.ได้ตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) เป็นหัวหอกในการรุกธุรกิจนี้ ซึ่งอินโนบิกได้เข้าถือหุ้นใหญ่ใน Lotus สร้างผลกำไรให้กับปตท.แล้ว, ธุรกิจเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business), ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) ซึ่งรวมถึงธุรกิจค้าปลีก Non-oil โดยมี OR เป็นแกนนำ, ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ทาง ปตท.ได้ตั้งบริษัทลูกเข้ามาดำเนินการ และธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล มี ปตท.สผ.เป็นแกนนำ
GPSC มินเพิ่มทุนฯ หลังเร่งเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็น 15GW ในปี 73
ด้าน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เป็นบริษัทลูก ปตท.ที่มีกำไรสุทธิในปี 2566 เติบโตสูงสุดถึง 314% โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 891 ล้านบาท มาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการผลิตเพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตส่งผลให้กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) อยู่ในระดับที่ดี และผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ประกอบกับค่าไฟฟ้าที่สามารถสะท้อนต้นทุนราคาพลังงานได้ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า ทำให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับบริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจ Solar platform จาก บริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (AEPL) ในประเทศอินเดีย มากกว่า 300 ล้านบาทจากโครงการที่เปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2566 AEPL สามารถชนะประมูลเสนอขายไฟฟ้าเพิ่มจำนวน 5,161 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นต่อไป
ปัจจุบัน AEPL มีกำลังการผลิตตามแผนงานทั้งสิ้นสูงถึง 9,525 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 3,990 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตส่วนที่เหลือมีแผนการดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567-2569 ทำให้ GPSC สามารถขยายสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้เร็วกว่าเป้าหมาย
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า ตามที่ปตท.ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มพลังงานหมุนเวียนจากเดิม 12GW เป็น 15GW ในปี 2573 ในฐานะ Flagship ธุรกิจไฟฟ้าของปตท. บริษัทมีความมั่นใจว่าทำได้ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนราว 4,000 เมกะวัตต์ โดย GPSC ก็ไม่มีความจำเป็นในการเพิ่มทุนจดทะเบียนในอนาคตด้วย
ที่ผ่านมา GPSC ได้ใช้เงินทุนเกือบ 30,000 ล้านบาทเพื่อลงทุนในประเทศอินเดีย โดยเข้าถือหุ้น 42.93% ใน AEPL ขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอินเดีย เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานรูปแบบผสมผสานระบบกักเก็บพลังงาน ยอมรับว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้วยนโยบายรัฐที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 500 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 ดังนั้น AEPL จึงมีเป้าหมายผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 11 กิกะวัตต์ภายในปี 2569
เมื่อ AEPL มีพอร์ตพลังงานหมุนเวียนมากพอระดับหนึ่งก็มีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของ AEPL เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น GPSC จึงมีแผนขายหุ้นบางส่วนใน AEPL ออกไป เพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมให้ได้ตามเป้าหมาย 15,000 เมกะวัตต์หรือ 15 กิกะวัตต์ในปี 2573 นี่คือเหตุผลว่าทำไม GPSC จึงไม่ต้องเพิ่มทุนฯ ในอนาคต
สำหรับประเทศที่ GPSC โฟกัสการลงทุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากอินเดียนั้น มีทั้งจีน ไต้หวัน และเวียดนาม แต่ทั้งนี้คงต้องรอให้ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์คลี่คลายระดับหนึ่ง เพราะไม่อยากให้นักลงทุนเกิดความกังวล
ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน GPSC ได้ร่วมเปิดโรงงานและผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) ถือหุ้นร่วมกับ Gotion Singapore Pte. Ltd. (Gotion) ณ สวนอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค 2 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบและจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมส่งมอบแบตเตอรี่ลิเมียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาด และพร้อมขยายกำลังการผลิตเป็น 8 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปีในอนาคต สอดรับกับกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ของกลุ่ม ปตท.
ปตท.สผ.ลั่น G1/61 ผลิต 800 ล้านลบ.ฟ./วันในต้น เม.ย.นี้
สำหรับ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) มีรายได้รวมในปี 2566 อยู่ที่ 315,216 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 462,007 บาร์เรลต่อวัน และราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 48.21 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงประมาณ 10% แต่มีกำไรสุทธิในปี 2566 อยู่ที่ 76,706 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.18% เนื่องจากมีรายจ่ายจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-operating items) ลดลง เช่น การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน การบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) เป็นต้น
ปีนี้ ปตท.สผ.ตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณการผลิตและจำหน่ายปิโตรเลียมอยู่ที่ 505,000 บาร์เรลต่อวัน โตขึ้นจากปีก่อน 9% มาจากแหล่ง G1/61 (เอราวัณ) ที่จะผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นตามสัญญา PSC เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในต้นเดือนเมษายนนี้ ส่วนแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ปัจจุบันนี้มีการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ 840 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็จะปรับลดกำลังการผลิตลงมาอยู่ที่ 750 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงต้นเมษายนนี้แต่เป็นระดับการผลิตที่สูงกว่าสัญญา DCQ ส่วนแหล่งอาทิตย์ยังรักษาการผลิตอยู่ที่ระดับ 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าสัญญา DCQ ที่ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะนี้ ปตท.สผ.อยู่ระหว่างการเจรจากับปตท.ในฐานะผู้ซื้อก๊าซฯ และกระทรวงพลังงานเพื่อทำสัญญาเพิ่มDCQ ขึ้นเป็นระดับ 340 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คาดว่าได้ข้อสรุปภายในปีนี้
ส่วนราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเฉลี่ยในปีนี้คาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต่ำกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 48.2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาจากราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบปีนี้ที่ 70-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลลดลงจากปีก่อนที่ 82 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้นปตท.สผ.มั่นใจว่าปีนี้บริษัทจะมีผลประกอบการเติบโตขึ้นจากปี 2566 ที่มีรายได้รวม 315,216 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 76,706 ล้านบาท
PTTGC ชี้ปี 67 ยอดขายพุ่ง 7%
บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) ปี 2566 มีผลการดำเนินงานพลิกกลับเป็นกำไรสุทธิ 999 ล้านบาท หลังจากปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 8,752 ล้านบาท แม้ว่ารายได้จากการขายรวม 616,635 ล้านบาท ลดลง 9% เป็นผลสืบเนื่องจากธุรกิจปิโตรเคมียังคงอยู่ในภาวะอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ได้รับความกดดันจากปัจจัยทั้งด้านภาวะเศรษฐกิจถดถอย กดดันอุปสงค์ปลายทางของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และมีกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาด แต่บริษัทหันมาเน้นประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขายหุ้น 50% ในบริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่นส์ จำกัด (GCL) ให้บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,640 ล้านบาท โดยมีกำไรพิเศษที่เกี่ยวข้องจากรายการนี้ (รวมกำไรจากการตีมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนที่เหลือใน GCL) เป็นจำนวน 4,017 ล้านบาท และมีกำไรจากการซื้อคืนหุ้นกู้สหรัฐฯ จำนวน 1,422 ล้านบาท
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทมียอดขายเติบโตขึ้น 7% เนื่องจากมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเพราะปีนี้บริษัทไม่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน รวมทั้งบริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 100-150 ล้านเหรียญสหรัฐรองรับการลงทุนโรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ การเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ allnex ส่วนการลงทุนควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ต้องชะลอไปก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนสูง
แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2567 มีสัญญาณราคาผลิตภัณฑ์ PE ดีขึ้นกว่าปีก่อน ส่วน PP คาดว่าจะใช้เวลาราว 2 ปีจึงเข้าจุดสมดุล จากปัจจุบันพบว่ามีกำลังการผลิตล้นตลาดจากกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาด ส่วนธุรกิจโรงกลั่น คาดว่าค่าการกลั่นปรับตัวลดลงจากปีก่อน ดังนั้นภาพรวมธุรกิจปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น
TOP หวั่นค่าการกลั่น
บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ผลประกอบการปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการขายที่ 459,402 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 9.15% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 19,443 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 40.48% โดยมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน (Accounting GIM) อยู่ที่ 9.80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มีราคาขายผลิตภัณฑ์ลดลงตามราคาน้ำมัน
ในปี 2567 ภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาด กดดันส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับน้ำมันดิบ (Crack spread) แต่มีปัจจัยหนุนจากค่าการกลั่น GRM ที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี โดยเฉพาะสายอะโรเมติกส์ทั้งพาราไซลีน (PX) และเบนซินเริ่มเห็นการฟื้นตัวจากวัฏจักรขาลง เนื่องจากอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดน้อยลง ส่วนสายโอเลฟินส์ยังท้าทายอยู่ เนื่องจากมีอุปทานใหม่เข้ามาคาดว่าตลาดน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ในปี 2568 ดังนั้นปีนี้ TOP วางเป้าหมายกำลังการกลั่นเต็มที่แม้ว่าจะมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในบางหน่วย ทำให้ Utilization rate ยังคงอยู่ในระดับสูง
สำหรับงบการลงทุนในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งไว้ที่ 540 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (CFP) จำนวน 430 ล้านเหรียญสหรัฐ และอีกกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐจะใช้ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่น
OR คาดปีนี้ยอดขายน้ำมันเจ็ตพุ่งรับนทท. 35 ล้านคน
สำหรับ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) มีแนวโน้มผลประกอบการในปีนี้จะเติบโตขึ้นจากปี 2566 ที่มีรายได้อยู่ที่ 769,224 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 11,094 ล้านบาท โดยยอดขายน้ำมันในปีนี้คาดว่าเติบโต 3-4% จากปีก่อนมียอดขายอยู่ที่ 27,642 ล้านลิตร สอดรับทิศทางอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
(GDP) ในปี 2567 ที่ประมาณการอยู่ที่ 2.2-3.2% และจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 35 ล้านคน จากปีก่อนที่อยู่ระดับ 28 ล้านคน ส่งผลดีต่อ OR มียอดขายน้ำมันอากาศยาน (Jet) เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19
สำหรับงบลงทุนในปี 2567 OR ตั้งไว้ที่ 23,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจ Mobility อยู่ที่ 8,800 ล้านบาท ธุรกิจ Lifestyle อยู่ที่ 10,100 ล้านบาท ธุรกิจ Global อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท และธุรกิจ Innovation & Business อีก 2,100 ล้านบาท โดยเร็วๆ นี้บริษัทคาดว่าจะปิดดีลธุรกิจอาหารเสริมธุรกิจ Lifestyle หลังจากบริษัทเพิ่งทำสัญญากับบริษัท สุกิ โฮลดิ้งส์ จำกัด (Sugi Holdings) หนึ่งในผู้นำธุรกิจเครือข่ายร้านขายยาและผู้นำด้านแพลตฟอร์มนาโนเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เพื่อศึกษาโอกาสทางการตลาดสุขภาพและความงาม (Health and Beauty) ในประเทศไทย โดยสุกิจะนำผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม รวมทั้งสนับสนุนความรู้และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นเข้ามาในไทยโดยอาศัยจุดแข็งด้านเครือข่ายทางธุรกิจ OR ที่มีอยู่ทั่วประเทศคาดว่าจะเปิดตัวในปีนี้
นอกจากนี้ OR มีแผนจะขยายสถานีชาร์จ EV Station PluZ ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น เพิ่มขึ้นประมาณ 550 แห่ง ขยายสาขาร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry พันธมิตรมีแผนเปิดสาขาเพิ่มอีก 340 สาขาจากปีก่อนมีอยู่ 1,004 สาขานั้น
IRPC อัดงบลงทุน 5 ปี 1.39 หมื่นล้าน
บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ตั้งงบลงทุน 5 ปีนี้ (2667-71) อยู่ที่ 13,888 ล้านบาท โดยปีนี้จะใช้เงินลงทุนราว 6,006 ล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการต่อเนื่อง ยังไม่นับรวมโปรเจกต์ลงทุนใหม่ๆ เพื่อเสริมทั้ง 5 ธุรกิจเป้าหมาย ขณะเดียวกันในปีนี้บริษัทเร่งทำตลาดน้ำมันในประเทศมากขึ้น หลังจากโรงกลั่นไออาร์พีซีผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ได้ ทำให้ลดการส่งออกดีเซลยูโร 4 ที่มีมาร์จิ้นน้อย ส่วนการทำตลาดผลิตภัณฑ์พลาสติก บริษัทมองหาโอกาสเจาะตลาดอินเดียที่ยังมีความต้องการใช้สูง เพื่อทดแทนการส่งออกไปตลาดจีนที่ยังประสบปัญหาเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ส่วนนิคมฯ ที่ร่วมกับ WHA ในการพัฒนานิคมฯ คาดว่าปีนี้จะรับรู้รายได้จากการขายที่ดิน อีกทั้งไออาร์พีซีจะนำที่ดินไปร่วมลงทุนกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ เช่น การจับมือกับเครือโรงพยาบาลเพื่อทำธุรกิจ Wellness ในจังหวัดระยอง เป็นต้น
นอกจากนี้ ไออาร์พีซียังคงวางแนวทางรับมือตลาดปิโตรเคมีขาลง (Down Trend) เช่น ลดต้นทุนการผลิตอย่างน้ำมันดิบให้ต่ำลง, ลดต้นทุนกระบวนการผลิต ทั้งการกลั่น ผลิตปิโตรเคมี นอกจากนี้ยังมีแผนงานจะแยกธุรกิจปิโตรเลียม และปิโตรเคมีออกจากกัน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการผลิต ราคาขาย ต้นทุนได้มากที่สุด ทำให้มั่นใจว่าปีนี้บริษัทมีผลการดำเนินงานเติบโตดีขึ้นกว่าปี 2566 ที่มีรายได้จากการขาย 319,047 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 2,923 ล้านบาท