xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.กังวลขึ้นค่าแรงระลอก 2-ดบ.สูง ระเบิดเวลาฉุดเชื่อมั่นฯ-ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.กังวลหนัก รัฐจ่อขยับค่าแรงขั้นต่ำระลอก 2 พ.ค.นี้ ท่ามกลางดอกเบี้ยที่ยังคงสูง หวั่นระเบิดเวลาฉุดเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมดิ่งหนักและซ้ำเติม ศก. หวังรัฐจะรีวิวการบริหารจัดการของแบงก์ให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯ ม.ค. 67 กระเตื้องขึ้นจากมาตรการกระตุ้น ศก.รัฐและส่งออกฟื้นตัว

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีความกังวลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือน พ.ค. 67 นี้เป็นครั้งที่ 2 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินกิจการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ขณะที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นจากความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกยังเผชิญกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากอัตราค่าระวางเรือ ค่าธรรมเนียมและค่าประกันต่างๆ ที่เกิดจากปัญหาการโจมตีเรือขนส่งสินค้าบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง ขณะที่การขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปใช้ระยะเวลานานขึ้น เนื่องจากต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮป

“การขึ้นค่าแรงในเดือนพ.ค. เรากังวลมากจะเป็นตัวกระตุกเชื่อมั่นแย่ไปอีก ตอนต้นปีขึ้นไปแล้วและการขึ้นปีละ
2 ครั้งไม่น่าจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยและหากจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400 บาท/วันธุรกิจเจ๊งแน่ๆ บางกลุ่มธุรกิจจ่ายเกินอยู่แล้ว
และค่าแรงขั้นต่ำนั้นส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับคือแรงงานเพื่อนบ้านดังนั้นไทย ต้องใช้จ่ายค่าแรงตามทักษะฝีมือแรงงาน”นายมนตรีกล่าว

ทั้งนี้อยากเสนอแนะต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้พิจารณาอัตราดอกเบี้ยซึ่งปัจจุบันระดับ 2.5% ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง และยังไม่มีกลไกกำกับดูแลว่าควรจะอยู่ที่อัตราเท่าไหร่ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบตัวเลขระหว่างเงินกู้ไทยเทียบกับประเทศอาเซียนของไทยถือว่าสูงกว่ามากอยากให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กำหนดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย
(Spread) ที่เหมาะสมเพราะSpread ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศอาเซียนเฉลี่ยแค่4-5% ทำไมอยู่ได้แต่ของไทยลูกหนี้ขั้นดี 7%ทั่วไป 8-10% เป็นไปได้หรือไม่ที่สถาบันการเงินของไทยจะมารีวิวในเรื่องของTotal Assets หรือ“ยอดสินทรัพย์ทั้งหมดว่ามีการบริหารจัดการให้เหมาะสมไม่เทอะทะซึ่งส.อ.ท.ไม่ได้คาดว่าว่าจะลงไปต่ำอย่างสิงคโปร์

ดังนั้นอาจต้องพิจารณาระดับที่เหมาะสม ซึ่งเราไม่ก้าวล่วงธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อยากจะขอร้องให้ช่วยกลับไปดู เพราะประเทศเพื่อนบ้านขึ้นดอกเบี้ยเฉลี่ยน้อยกว่าไทย ดังนั้นจึงยังมีประเด็นอื่นที่ต้องดู อาจขึ้นอยู่กับวิธีบริหารจัดการของธนาคาร และอาจต้องดูทั้งระบบ จึงอยากให้รีวิวเรื่องนี้ ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องปรับลงมากเหมือนสิงคโปร์” นายมนตรีกล่าว

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 96.2 ในเดือนธันวาคม 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบ มาตรการพักชำระหนี้ SMEs แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาความไม่สงบบริเวณทะเลแดงที่มีแนวโน้มขยายวงกว้างซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป รวมถึงกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) และความผันผวนของราคาพลังงาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนอ่อนแอ และความต้องการสินค้าจากไทยลดลง

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1) เสนอให้ภาครัฐเร่งหารือกับสายเรือเพื่อเพิ่มจำนวนเรือขนส่งสินค้า และตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและเรือ ตลอดจนขอให้มีการชี้แจงแผนการเดินเรือ และรายละเอียดในส่วนของค่าระวางเรือ (Freight rate) ที่ปรับเพิ่มขึ้นให้ชัดเจน

2) เสนอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนไทย-เมียนมา รวมทั้งดูแลนักลงทุนไทยที่เข้าไปทำธุรกิจ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา 3) เร่งพิจารณาอนุมัติงบประมาณปี 2567 รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมในการใช้จ่ายงบให้ได้ตามเป้าหมาย ภายในปีงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนและจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจ

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกระทบต่อ SMEs ขณะที่สถาบันการเงินก็เข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นจากความกังวลปํญหาหนี้ครัวเรือน ขณะเดียวกันความผันผวนของราคาพลังงานเริ่มสูงขึ้นดังนั้นอยากให้รัฐส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้สินค้าไทยเพราะประโยชน์จะตกแก่คนไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น