ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดการณ์ กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ไว้ตลอดปี 2024 โดยมองว่า กนง. จะพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไปข้างหน้าในระยะปานกลางถึงระยะยาว (Forward looking) มากกว่าตัวเลขที่เกิดขึ้นแล้ว (Backward looking) หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในระยะต่อไปยังเป็นไปตามที่ SCB EIC เคยคาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่อเนื่องใกล้เคียงระดับศักยภาพที่ 3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทยอยปรับสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ กนง. จะยังมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว (Neutral rate) ตามที่ กนง. สื่อสารไว้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการดูแล SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่ภาระหนี้สูงและรายได้ฟื้นตัวช้า กนง. ยังมีแนวโน้มสนับสนุนการใช้มาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน มากกว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นมาตรการแบบครอบคลุมและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี หากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเติบโตชะลอลงกว่าประมาณการที่ กนง. ประเมินไว้ตามผลประชุมครั้งนี้อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบต่อเนื่อง และกระจายไปในสินค้าและบริการเป็นวงกว้างมากขึ้น กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชัดเจนขึ้น อาจส่งผลให้ กนง. ต้องเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อให้นโยบายการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่อาจไม่เป็นไปตามคาดได้
สำหรับมุมมองเศรษฐกิจของ SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2024 โดยแรงส่งหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นและมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชน นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ สอดคล้องกับการผลิตบางอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัว เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2024 ที่ล่าช้า ซึ่งจะกดดันการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรก ตลอดจนความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ในตะวันออกกลางที่อาจกระทบการขนส่งทางทะเล และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักขึ้นได้อีก เป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าของไทย
ด้านเงินเฟ้อไทย แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน แต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน โดย SCB EIC ประเมินว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากเงินเฟ้อติดลบยังไม่กระจายตัวรายสินค้าเป็นวงกว้าง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวก มองไปข้างหน้าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นหลัก กดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้กลุ่มเปราะบางที่ยังฟื้นตัวช้า
เศรษฐกิจโลกในปี 2024 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากผลของนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่องและตลาดแรงงานอ่อนแอลง อีกทั้ง ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนรอบด้าน โดยในปีนี้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในกว่า 60 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมสูงกว่า 60% ของโลก นอกจากนี้ การค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกอาจเผชิญความเสี่ยงใหม่จากการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง และปัญหาน้ำแล้งในคลองปานามา ก่อให้เกิดความแออัดในการขนส่งทางเรือหรือต้องปรับเส้นทางเดินเรือ ส่งผลให้ระยะเวลาการขนส่งสินค้าและต้นทุนค่าขนส่งปรับสูงขึ้น
สำหรับนโยบายการเงิน ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 2 จากเงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องเข้าใกล้กรอบเป้าหมายที่ 2% มากขึ้น ส่งผลให้นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายขึ้นได้ สำหรับจีนยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราส่วนการสำรองของธนาคารพาณิชย์ขั้นต่ำ ขณะที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในปีนี้