“กรมเจ้าท่า ร่วมกับ ปตท.สผ.” จัดฝึกอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ครั้งที่ 2
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เป็นประธานฯ เปิดการอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุมลากูนาคิงเอ โรงแรม ลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา จังหวัดสงขลา และได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายมาหะมะพีสกรี วาแม ในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมฝึกอบรมฯ
การฝึกอบรมครั้งนี้ กรมเจ้าท่าร่วมกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้บูรณาการร่วมฝึกอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตาม (ร่าง) แผนจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ พื้นที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน กรมเจ้าท่า ปตท.สผ. ปตท.สผ.อีดี ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กองทัพเรือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมท่าอากาศยาน กรมศุลกากร กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การท่าเรือแห่งประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) และภาคเอกชนอื่่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น
ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าจะมีการฝึกซ้อมตามแผนชาติเป็นประจำทุกปี สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมพร้อมก่อนการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์แห่งชาติ ครั้งที่ 13 ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 โดยการฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีวัตถุประสงค์ให้ความสำคัญต่อการจำลองสถานการณ์และการฝึกซ้อมทางการตอบสนองต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานตามโครงสร้างของ (ร่าง) แผนการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ รวมถึงการประเมินสถานการณ์ การเลือกวิธีการจัดการที่เหมาะสม และทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อสร้างความรวดเร็ว เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางน้ำ สร้างความยั่งยืนและปลอดภัยแก่ประชาชนต่อไป