xs
xsm
sm
md
lg

“สุวรรณภูมิ” แออัด-บริการห่วย! ปัญหาเดิมแก้ไม่จบ กับดักนโยบาย”ฮับการบิน-บูมท่องเที่ยว-กระตุ้นเศรษฐกิจ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ให้ความสำคัญเรื่องการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการออกมาตรการฟรีวีซ่าให้จีน และคาซัคสถาน แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ในเวลาต่อมาได้ประกาศยกเลิกวีซ่านักท่องเที่ยวจีนชั่วคราว และผลักดันยกเลิกวีซ่าถาวรสำหรับนักท่องเที่ยวไทยและจีน โดยจะมีผลในวันที่ 1 มี.ค. 2567 นี้ ประกอบกับเทศกาลตรุษจีน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด โดยตัวเลขล่าสุดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีปริมาณความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เปิดฟรีวีซ่าเดือน พ.ย. 2566 โดยมีเที่ยวบินที่ 800 เที่ยวบิน/วัน ปัจจุบันขยับเพิ่มเป็นกว่า 1,000 เที่ยวบิน/วัน หรือเพิ่มขึ้น 20% 

ในขณะเดียวกัน เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่ม แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงคือ การอำนวยความสะดวกต่างๆ ของสนามบิน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้ได้รับความสะดวก และความปลอดภัย มีการสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงคมนาคม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ให้ร่วมแก้ปัญหาความแออัด เวลารอการตรวจเข้าเมือง หรือรอรับกระเป๋า ต้องรวดเร็ว ตรงเวลา และถูกต้อง   

@ อลหม่าน "ระบบ ตม.ล่ม" ทำป่วนทั้งสนามบิน 
แต่แล้ว! เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 ตั้งแต่เช้ามืด (04.30 น.) เกิดปัญหาระบบตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ล่ม ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรอคิวตกค้างจำนวนมาก กว่าจะแก้ไขให้กลับมาใช้งานปกติ ได้ในเวลา 13.30 น. เรียกว่าแก้ไขกันถึง 9 ชม. เรื่องนี้ ทำให้ พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ หรือบิ๊กหิน ในฐานะประธานกรรมการ ทอท. ถึงกับนั่งไม่ติดต้องเดินทางไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อตรวจสอบและเร่งรัดการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง รวมไปถึงสั่งการให้ ทอท.จัดพนักงานสนับสนุนอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เช่น แจกจ่ายน้ำดื่ม และช่วยคัดแยกผู้โดยสารที่เสี่ยงขึ้นเครื่องไม่ทัน เพื่อจัดช่อง priority ตรวจหนังสือเดินทางก่อนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า   

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เองก็ได้เดินทางไปตรวจติดตามระบบ ตม.และระบบอื่นๆของสนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่แจ้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 โดยระบุว่า ต้นเดือน มี.ค.นี้จะมีการประกาศยกระดับสนามบินทั่วประเทศ และเป็นแผนงานใหญ่การบริหารจัดการสนามบินสุวรรณภูมิ ระบบการตรวจคนเข้าเมือง ทุกอย่างมีความสำคัญ ต้องมาดูเอง ไม่อยากแค่ฟังรายงาน   

“การเดินทางตั้งแต่เข้ามาประเทศไทยก็อยากให้นักท่องเที่ยวสะดวกสบาย ตั้งแต่ลงเครื่องบิน เดินเข้ามาในงวง ไม่ต้องนั่งรถบัสเข้ามา หรือเข้ามาถึงไม่ต้องคอยนาน 30 นาที รับกระเป๋าออกไปได้ ระบบแท็กซี่ต้องให้เหมาะสม ถูกต้อง ขากลับที่จะเดินทางออกจากประเทศ ก็ไม่อยากให้เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งจากที่สอบถามตอนนี้ยังเกือบ 3 ชั่วโมง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเห็นใจนักท่องเที่ยว แทนที่จะเอาเวลาไปท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม แต่ต้องมาเสียเวลาที่สนามบินมากขึ้น หากเราจะมีการดูแลบริการอำนวยความสะดวกให้ดี ตรงนี้ถือเป็นโอกาสในการที่จะทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยดีขึ้น”


@ สารพัดปัญหา "สุวรรณภูมิ" ยังแก้ไม่จบ

ด้าน "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รมว.คมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลสนามบินโดยตรง รับลูกนโยบายนายกฯ ลงตรวจติดตามความคืบหน้าตามข้อสั่งการ เพื่อเตรียมพร้อมการให้บริการผู้โดยสารช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความหนาแน่นในการรอคิวตรวจหนังสือเดินทาง ได้ประสาน สตม.เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้บริการจุดตรวจคนเข้าเมืองทุกช่องบริการให้เพียงพอ มีการเสริมเจ้าหน้าที่เวรปฏิบัติงานนอกเวลา รวมถึงให้ตรวจสอบความพร้อมของช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ Automatic channels โดยวางมาตรการในการป้องกันการขัดข้องของระบบ Biometric พร้อมให้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของระบบตลอด 24 ชม.

แต่…สุวรรณภูมิไม่ได้มีแค่ปัญหาคิวจุดตรวจหนังสือเดินทางอย่างเดียว อีกปัญหาที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และยังแก้ไม่ตกจนทุกวันนี้ คือ บริการภาคพื้น (Ground Handling) การจัดการกระเป๋าสัมภาระ บริการ Check-in ตรวจรับบัตรโดยสาร (Boarding Pass) รวมไปถึงบริการลานจอด และกิจการอื่นๆ โดยสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้ให้บริการภาคพื้นจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้สิทธิพิเศษในฐานะสายการบินแห่งชาติ และ บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (Bangkok Flight Services : BFS) เข้ามาโดยวิธีประมูล ซึ่งพบว่าช่วงโควิดมีการปรับลดบุคลากรตามสถานการณ์เที่ยวบินที่ลดลง และอุปกรณ์เกิดชำรุด เมื่อการบินกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ ส่งผลให้การบริการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระขาเข้ามีความล่าช้า

“การบินไทยแก้ไขช้าเพราะไม่มีความคล่องตัว อีกทั้งบริษัทเผชิญกับภาวะล้มละลายและเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้ยังปรับปรุงบริการให้กลับมาอยู่ในมาตรฐานไม่ได้ ส่วน BFS เป็นเอกชน จึงมีความคล่องตัวในการปรับปรุงบริการได้เร็วกว่า”


@แอร์ไลน์ฟ้องบริการแย่ "สุริยะ" ขู่ฉีกสัญญา "การบินไทย"

ล่าสุด 12 ก.พ. 2567 "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" เรียกผู้เกี่ยวข้อง สายการบิน และผู้ให้บริการภาคพื้น ประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยระบุว่า ที่ผ่านมาได้รับข้อร้องเรียนจากนักธุรกิจ และสายการบินว่าไม่ได้รับความสะดวกในการให้บริการภาคพื้น โดยสายการบินที่ใช้บริการภาคพื้นจาก "การบินไทย" ให้ข้อมูลไปในแนวทางเดียวกัน ว่าพบปัญหาอุปกรณ์ที่นำมาให้บริการไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย รวมทั้งปัญหาด้านบุคลากรมีการลาออกบ่อย และบุคลากรที่เข้ามาปฏิบัติงานแทนไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน

นายสุริยะกล่าวว่า ให้การบินไทยเร่งแก้ไขปรับปรุงบริการ โดยจากนี้จะมีการประเมินคุณภาพการให้บริการของการบินไทยเป็นรายเดือน หากไม่ปรับปรุงการให้บริการภาคพื้นดีขึ้น และกระทรวงฯ ยังได้รับเรื่องร้องเรียนด้านการให้บริการที่ไม่เพียงพอตามความต้องการของสายการบินอื่น อาจมีการยกเลิกสัญญากับการบินไทย ซึ่งตามเงื่อนไขสัญญาสามารถทำได้หากบริการไม่ได้มาตรฐานมีปัญหาทำให้ ทอท.ได้รับความเสียหาย


@ดันแอร์ไลน์ย้ายใช้ SAT-1 แก้หลุมจอดไม่พอ

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาอาคารผู้โดยสารหลักมีหลุมจอดเครื่องบินที่มีสะพานเทียบอยู่ติดกับอาคารที่พักผู้โดยสาร (Contact Gate) ไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากมีการซ่อมในทางขับ (taxiway) เพื่อให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน ซึ่งปัญหาหลุมจอดไม่เพียงพอมีแนวทางการแก้ปัญหาโดยให้สายการบินไปใช้อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 หรือ (Satellite 1 : SAT-1) แต่เพราะสายการบินมีความกังวลเรื่องระบบการจัดการสัมภาระจึงไม่ยอมย้ายไป จึงได้มอบให้ ทอท.และผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น ร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาให้ได้ข้อสรุปเพื่อย้ายไปใช้อาคาร SAT-1 และรายงานให้กระทรวงฯ ทราบภายใน 2 สัปดาห์

“มีเป้าหมายในการย้ายไปใช้บริการที่อาคาร SAT-1 ให้ได้อีก 100 เที่ยวบิน/วัน จากปัจจุบันมีประมาณ 82 เที่ยวบิน/วัน หรือเพิ่มเป็น 200 เที่ยวบิน/วัน โดยจะทยอยเพิ่มสัปดาห์ละ 25 เที่ยวบินต่อวัน ภายใน 1 เดือน เป้าหมายหลักคือ ให้ทุกเที่ยวบินเข้าใช้ Contact Gate ทั้งหมด” สุริยะกล่าว

@ AOTGA เสียบบริการชั่วคราว+รับสัมปทานรายที่ 3 สัญญา 25 ปี

สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น กรณีที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัทไม่มีความพร้อมในการให้บริการภาคพื้นได้เพียงพอ “สุริยะ” กล่าวว่า จะให้บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จํากัด (AOTGA) เข้ามาช่วยดำเนินการให้บริการภาคพื้นเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัทก่อน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนระยะยาว คือ การจัดหาผู้ร่วมลงทุนบริการภาคพื้นรายใหม่ ซึ่งเป็นรายที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือน เม.ย. 2567


นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท.ได้จัดทำร่าง TOR ในการประมูลการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของผู้ประกอบการรายที่ 3 โดย คณะกรรมการตามมาตรการ 36 หรือคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กำลังพิจารณาร่าง TOR คาดจะได้รับความเห็นชอบภายในเดือน ก.พ. 2567 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นร่างทีโออาร์ คาดใช้เวลา 1 เดือนตามกฎหมาย และเปิดประมูลได้ปลายเดือน เม.ย. 2567 ให้เวลายื่นเอกสาร 45 วัน และพิจารณาคัดเลือกประมาณ 3 เดือนจะได้ตัวผู้ให้บริการรายที่ 3 โดย AOTGA บริษัทลูกของ ทอท. มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูล

สำหรับโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ นั้น ครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ให้ ทอท.ดำเนินการจัดหาผู้ให้บริการรายที่ 3 ใช้รูปแบบ PPP Net Cost เอกชนจัดหาเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง จัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการให้บริการตามมาตรฐาน บริหารจัดการโครงการตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ ทอท.กำหนด สำหรับเงินลงทุนตามโครงการจะมาจากเอกชนทั้งหมด จำนวน 29,390.76 ล้านบาท แยกเป็นค่าลงทุนในสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ 1,608.76 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา 27,782.01 ล้านบาท

มีระยะเวลาดำเนินการ 25 ปี มีขอบเขตการดำเนินงาน ในกลุ่มบริการหลักของผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น เช่น บริการอุปกรณ์สนับสนุนอากาศยาน การขนถ่ายเคลื่อนย้ายกระเป๋า สัมภาระ สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ขนถ่ายและเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและลูกเรือ และกลุ่มบริการอื่นๆ

ปัจจุบัน ทอท.ได้ให้สิทธิการประกอบกิจการในส่วนของบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ แก่ผู้ประกอบการ 2 ราย ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อายุสัญญาสิ้นสุดสัญญาปี 2583 และบริษัท กรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์ เซอร์วิส จำกัด อายุสัญญาสิ้นสุดสัญญาปี 2569 ส่วนการให้บริการผู้โดยสาร มีผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่ บริษัทการบินไทยฯ อายุสิ้นสุดสัญญาปี 2583 บริษัทกรุงเทพเวิลด์ไวด์ และบริษัท ลุฟท์ฮันซ่า เซอร์วิส (ไทยแลนด์) ซึ่ง 2 รายหลังนี้สิ้นสุดสัญญาเมื่อปี 2564 แต่ ทอท.ได้ว่าจ้างให้ดำเนินการชั่วคราวอยู่


@ตั้ง "ศูนย์บัญชาการร่วม" พร้อมอำนวยความสะดวก 24 ชม.

ด้านนายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) กล่าวว่า ทสภ.อยู่ในระหว่างจัดตั้งห้องศูนย์บัญชาการร่วม เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกส่วนงานในทุกมิติในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาความแออัดภายในอาคารผู้โดยสาร โดยจะมีเจ้าหน้าที่ ทสภ. เข้าเวรตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อกำกับดูแลความเรียบร้อยภายในอาคารผู้โดยสาร กำกับดูแลกระบวนการผ่านเข้า-ออกของผู้โดยสาร ตรวจสอบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้พร้อมบริการ เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สำหรับการบริหารจัดการผู้โดยสารรอเช็กอินล่วงหน้าที่มีความหนาแน่น โดยเฉพาะในช่วงเวลา 20.00-01.00 น. ได้มีการประสานสายการบินให้ทำการเปิดเคาน์เตอร์เช็กอินก่อนล่วงหน้าเป็น 4 ชั่วโมงก่อนเครื่องออก เพื่อลดปัญหาความแออัด

ปัจจุบัน สนามบินสุวรรณภูมิ มีสายการบิน ใช้บริการประมาณ 114 สายการบิน ล่าสุดมีจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ย 983 เที่ยวบิน/วัน มีผู้โดยสารเฉลี่ย 180,840 คน/วัน ซึ่งในบางช่วงเวลาต้องบอกว่าผู้โดยสารมีความแออัดเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการบริการ และทำให้ “สุวรรณภูมิ” ร่วงมาอยู่อันดับที่ 68 ในปี 2566 ของการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดประจำปี 2566 (World's Best Airports 2023)

ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายและมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และผลักดันให้สนามบินสุวรรณภูมิกลับมาอยู่ใน 20 อันดับแรกของสนามบินที่ดีที่สุด ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งแก้ปัญหากันครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น …ซึ่งจะว่าไปแล้ว ปัญหาที่มีตอนนี้ก็เป็นปัญหาเดิมๆ ที่มีมานานแล้ว และเคยมีความพยายามแก้ไขมาหลายครั้งแต่แก้ยังไม่จบไม่สิ้นเสียที…คงต้องรอดูว่ารัฐบาล "เศรษฐา" จะแก้ปัญหาให้ “สุวรรณภูมิ” หลุดพ้นวงจรสภาพ "ผู้โดยสารพุ่ง…สวนทางบริการห่วย" ได้จริงหรือไม่!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น