xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งเป้าปี 67 ส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน “รณรงค์ พูลพิพัฒน์” กางแผนเพิ่มยอด จัด TRC2024-คุยคู่ค้า-ขายจีทูจี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 2566 ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกข้าวไปขายตลาดต่างประเทศได้ปริมาณ 8.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.62% เกินไปกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ที่ 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 178,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.43% หรือประมาณ 5,144 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิมเมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ 7.5 ล้านตันอยู่มากพอสมควร โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และความต้องการอาหารที่สูงขึ้นจากความมั่นคงด้านอาหาร และค่าเงินบาท อยู่ในระดับที่แข่งขันได้

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ มีแผนผลักดันการส่งออกอย่างเข้มข้น ทั้งการจัดประชุม Thailand Rice Convention 2023 การจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชนเดินทางไปเยือนประเทศคู่ค้าสำคัญ และการจัดประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวียดนาม เยอรมนี จีน ออสเตรเลีย เป็นต้น พร้อมกับเดินหน้ารักษาตลาดเดิม และหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกข้าวไทยยังเติบโตได้ดี

ส่วนปริมาณที่ส่งออกได้ 8.76 ล้านตันนั้น เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งส่งออกข้าว พบว่าไทยสามารถทำยอดส่งออกข้าวแซงหน้าเวียดนาม จนขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยอินเดียยังคงเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ส่งออกได้รวม 17.88 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ ไทย 8.76 ล้านตัน เวียดนาม 8.13 ล้านตัน ปากีสถาน 4.25 ล้านตัน และสหรัฐ 2.28 ล้านตัน ตามลำดับ

ปี 2566 อินโดนีเซียตลาดอันดับ 1

สำหรับการส่งออกข้าวของไทยในปี 2566 ปรากฏว่าตลาดสำคัญ 5 ลำดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย สัดส่วน 16.11% เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย รองลงมาคือ แอฟริกาใต้ สัดส่วน 10.10% อิรัก 9.74% สหรัฐฯ 8.06% และจีน 5.38% และในจำนวนข้าวที่ส่งออก แยกเป็นข้าวขาว สัดส่วน 55.54% ข้าวหอมมะลิไทย 19.17% ข้าวนึ่ง 15.70% ข้าวหอมไทย 5.97% ข้าวเหนียว 2.97% และข้าวกล้อง 0.65%

ทั้งนี้ หากแยกการส่งออกเป็นรายภูมิภาค เอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง มีสัดส่วน 41.14% แอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้ เซเนกัล แคเมอรูน โมซัมบิก โกตดิวัวร์ เบนิน สัดส่วน 28.46% ตะวันออกกลาง ได้แก่ อิรัก เยเมน อิสราเอล ซีเรีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัดส่วน 13.26% อเมริกา ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา บราซิล เปอร์โตริโก เม็กซิโก สัดส่วน 11.54% ยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิตาลี เบลเยียม สัดส่วน 3.31% โอเชียเนีย ได้แก่ ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ สัดส่วน 2.29%


ปี 2567 ตั้งเป้าส่งออก 7.5 ล้านตัน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปี 2567 กรมได้ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ร่วมกันว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2566 เพราะผลผลิตข้าวของไทยคาดว่าจะลดลงจากปีก่อนถึง 5.87% เป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการส่งออกที่อาจเผชิญกับการแข่งขันและความท้าทายหลายประการ

ขณะเดียวกัน ปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณอุปทานข้าวโลกเพิ่มขึ้น การนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมของการบริโภคข้าวลดลง เช่น จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้การแข่งขันทางด้านราคารุนแรงขึ้น ขณะที่ไทยมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ส่งออก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย

นอกจากนี้ มีสัญญาณว่าอินโดนีเซียอาจซื้อข้าวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีข้าวค้างสต๊อกจากปี 2566 ค่อนข้างมาก ขณะที่จีนมีการผลิตข้าวมากขึ้นและเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้าข้าวให้เป็นผู้ผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรและอาจส่งออกในอนาคต และอินเดียอาจประกาศยกเลิกการระงับการส่งออกข้าวขาว ทำให้ภาคเอกชนของอินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้เสรีตามปกติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นความท้าทายต่อการส่งออกข้าวไทย

ราคาข้าวไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ราคาข้าวเปลือกของไทย พบว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ณ เดือน ก.พ. 2567 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 14,995 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นจากราคา 13,315 บาทต่อตัน ส่วนต่างราคาสูงขึ้น 1,680 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 13% ข้าวเปลือกเจ้า 12,181 บาทต่อตัน จากราคา 8,443 บาทต่อตัน ส่วนต่าง 3,738 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 44% ข้าวเปลือกเหนียว 13,640 บาทต่อตัน จากราคา 11,847 บาทต่อตัน ส่วนต่าง 1,793 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 15%

ผลจากราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้น แน่นอนว่าส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนหนึ่งก็กระทบต่อราคาส่งออกที่แข่งขันได้ยากขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แก้เกมด้วยการหันไปผลักดันการส่งออกข้าวคุณภาพและมาตรฐานสูง เพื่อไม่ต้องแข่งขันด้านราคา และมุ่งเจาะตลาดระดับบน ที่ไม่กังวลในเรื่องราคา อย่างข้าวหอมมะลิ และข้าวคุณลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นต้น

แต่ในตลาดที่ต้องแข่งขันด้านราคา อย่างข้าวขาว ก็จะยังสู้ โดยให้ความสำคัญต่อการรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยในการทำงาน เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายการส่งออกข้าวที่ได้ตั้งไว้ และทำงานในรูปแบบเอกชนนำ รัฐสนับสนุน


เปิดแผนส่งเสริมและผลักดัน

นายรณรงค์กล่าวว่า สำหรับแผนการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทย จะดำเนินการตามนโยบายที่นายภูมิธรรมให้ไว้ โดยมีแผนงานสำคัญๆ ที่จะดำเนินการ เริ่มจากการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ หรือ Thailand Rice Convention (TRC) 2024 ในเดือน พ.ค. 2567 ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน และจะเป็นเวทีที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิต การค้าข้าวของไทย ทำให้คู่ค้ามั่นใจ และพร้อมที่จะสั่งซื้อข้าวของไทยเพิ่มขึ้น

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีแผนจัดงาน TRC สัญจรลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ ประมาณเดือน ส.ค. 2567 เพื่อให้เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โรงสีข้าว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวในส่วนภูมิภาค ได้รับทราบแนวนโยบายและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทย รวมถึงการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดข้าว และแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงความสำคัญในการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในระยะยาว

บินกระชับสัมพันธ์คู่ค้ารายประเทศ

นายรณรงค์กล่าวว่า ทางด้านตลาดต่างประเทศ มีแผนจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนเดินทางเยือนประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นและขยายตลาดข้าวไทย เช่น แอฟริกาใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สำคัญอันดับต้นๆ ของไทย โดยจะไปพบปะหารือกับหน่วยงานรัฐที่ดูแลการนำเข้าข้าว และภาคเอกชนที่เป็นผู้นำเข้าข้าว เพื่อสร้างความคุ้นเคย และต่อยอดขายข้าวไทย

ทั้งนี้ ยังมีแผนเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลอินโดนีเซียและจีน และประเทศอื่น ๆ ที่มีความประสงค์ขอซื้อข้าวในรูปแบบ G to G กับไทย ซึ่งจะช่วยให้มีคำสั่งซื้อรองรับผลผลิตข้าวไทยและช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวภายในประเทศไม่ให้ปรับตัวลดลงกระทบต่อราคาที่เกษตรกรขายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดปริมาณมาก และขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจา และคาดว่าจะประสบผลสำเร็จ

โปรโมตภาพลักษณ์ข้าวไทย

ขณะเดียวกัน จะเร่งส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติประจำปี เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสและขยายช่องทางตลาดของข้าวไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งที่ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า ผู้แทนจำหน่าย รวมถึงผู้บริโภคให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมงานเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยสร้างการรับรู้และตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ดีและความโดดเด่นของข้าวไทย ทั้งในด้านรสชาติ คุณภาพมาตรฐาน และความหลากหลาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ข้าวไทยเพิ่มขึ้น

โดยงานที่จะเข้าร่วม เช่น งาน BIOFACH (เยอรมัน) ซึ่งมีการนำผู้ประกอบการค้าข้าวอินทรีย์รายย่อยเข้าร่วมงาน งาน GULFOOD (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) งาน THAIFEX–Anuga ASIA (ไทย) ซึ่งมีการนำผู้ประกอบการค้าข้าวคุณภาพดีจากจังหวัดซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของไทยเข้าร่วมงาน งาน Summer Fancy Food Show (สหรัฐอเมริกา) งาน Fine Food (ออสเตรเลีย) งาน SIAL (ฝรั่งเศส) งาน China-ASEAN Expo (CAEXPO) และ China International Import Expo (CIIE) (จีน) รวมทั้งการจัดกิจกรรม Roadshow ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดจีนที่มีแผนจัดในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.2567 ด้วย

ผนึกรัฐเอกชนรับมือแข่งขันรุนแรง

นายรณรงค์สรุปว่า เพื่อเป็นการรับมือกับความท้าทายในการขายข้าวให้ประเทศคู่ค้าในประเด็นที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายอื่น อันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง กรมจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร ผู้ส่งออก เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูง ไม่ควรน้อยไปกว่าผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศผู้ส่งออกอื่น ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ประกอบกับพันธุ์ข้าวต้องมีความต้านทานโรคและแมลง เพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและการกำจัดแมลง เพราะหากไทยไม่มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว จะทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้าข้าวในตลาดโลกในที่สุด

จากเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2567 ที่ตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ดูแล้วไม่น่าจะเป็นเป้าที่ไกลเกินเอื้อม โดยข้อมูลจากใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่า ช่วงวันที่ 1-31 ม.ค.2567 ส่งออกได้แล้วปริมาณ 1,122,358 ตัน เพิ่มขึ้น 43.96% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขออนุญาตส่งออกข้าวอยู่ที่ 779,654 ตัน นี่แค่ประเดิมเดือนแรกของปี 2567 ถ้าเดือนต่อ ๆ ไป ยังสามารถรักษาการส่งออกได้แสนตันปลาย ๆ เผลอ ๆ ปีนี้ ส่งออกข้าวทั้งปี จะทะลุเป้าอีกก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น