xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นปีนี้ส่งออกข้าวทะลุ 8 ล้านตัน เอลนีโญ ความมั่นคงอาหาร บาทอ่อนหนุน “รณรงค์” สบช่องนำเอกชนลุยเปิดตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยไปตลาดโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะลุ่มๆ ดอนๆ มาโดยตลอด จากที่เคยเป็นดาวรุ่ง เคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลก ก็ถูกคู่แข่งอย่างอินเดีย และเวียดนามแซงไป จนบางปีตกไปอยู่อันดับที่ 2 อันดับที่ 3 และจากปริมาณการส่งออกข้าวที่เคยทำสถิติสูงสุด 11.25 ล้านตัน เมื่อปี 2560 จากนั้น ปริมาณการส่งออกก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือแค่ 5.72 ล้านตัน ในปี 2563 แต่หลังจากนั้นก็ขยับปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 6.11 ล้านตันในปี 2564 และ 7.69 ล้านตันในปี 2565

ส่วนในปี 2566 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยไว้ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 2566 ที่ปริมาณ 7.5 ล้านตัน โดยตอนนั้นมองว่า มีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการซื้อข้าวจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น มีแผนผลักดันการส่งออก ทั้งการจัดประชุม Thailand Rice Convention การจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชนเดินทางไปเยือนประเทศคู่ค้าสำคัญ การจัดประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดสำคัญ และการรักษาตลาดเดิมและหาตลาดใหม่

จากนั้นกรมการค้าต่างประเทศได้เดินหน้าผลักดันการส่งออกข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้า ทั้งรายเดิม รายใหม่ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติเพื่อแนะนำข้าวไทย โดยในประเทศ ได้แก่ Thaifex Anuga ASIA 2023 และในต่างประเทศ ได้แก่ งาน Summer Fancy Food Show ณ สหรัฐฯ งาน GULFFOOD 2023 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งาน FOOFEX 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น งาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 (CAEXPO) 2023 ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และงาน Fine Food 2023 ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้จัดงาน Thailand Rice Convention (TRC) 2023 มีพิเศษกว่าครั้งก่อนๆ คือ การจัด TRC 2023 สัญจร ลงพื้นที่ไปยังต่างจังหวัด การแก้ไขปัญหาปลอมปนข้าวหอมมะลิไทยในจีน ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ในทันที การจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคข้าว ทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ การเดินหน้าคุ้มครองเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทย โดยการยื่นต่ออายุเครื่องหมายอีก 8 ประเทศ ได้แก่ ตุรกี คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ออสเตรีย ญี่ปุ่น สวีเดน สิงคโปร์ และเวียดนาม หลังจากปี 2565 ได้ยื่นต่ออายุไปแล้ว 12 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ฮังการี โปแลนด์ เดนมาร์ก อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ สเปน เบเนลักซ์ ไอซ์แลนด์ และแคนาดา


จัดประกวดข้าวได้เพิ่มอีก 3 สายพันธุ์

ต่อมา กรมการค้าต่างประเทศได้จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ ครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-67 ที่ต้องการแก้ไขจุดอ่อน คือ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ข้าวที่เสนอขายในตลาดโลกของไทยมีน้อยเกินไป จึงได้เร่งเพิ่มพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ เพื่อแข่งขันตลาดข้าวโลกกับประเทศคู่แข่ง และตั้งเป้า 5 ปี เพิ่มพันธุ์ข้าวใหม่อย่างน้อย 12 พันธุ์ เป็นข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวหอม 2 พันธุ์ และข้าวโภชนาการสูง 2 พันธุ์

ผลการดำเนินการ ในช่วงปี 2564 ได้ทำงานร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จัดประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เป็นครั้งแรก ตอนนั้นได้ข้าวพันธุ์ใหม่มา 6 สายพันธุ์ เป็นข้าวหอมไทย 2 สายพันธุ์ ข้าวพื้นนุ่ม 2 สายพันธุ์ และข้าวพื้นแข็ง 2 สายพันธุ์ และมาปี 2566 ตัดสินการประกวดพันธุ์ข้าวของปี 2565 ได้เพิ่มมาอีก 3 สายพันธุ์ เป็นข้าวหอมไทย ได้แก่ ข้าวพันธุ์ 65RJ-06 ข้าวขาวพื้นนุ่ม ได้แก่ ข้าวพันธุ์ 65RJ-08 และข้าวขาวพื้นแข็ง ได้แก่ ข้าวพันธุ์ 65RJ-13 รวมแล้วมีข้าวพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากการประกวดแล้ว 9 สายพันธุ์ หากรวมกับที่กรมการข้าว วิจัยและพัฒนาอีก 12 สายพันธุ์ ก็มีข้าวพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นแล้ว 21 สายพันธุ์

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจดทะเบียนข้าวพันธุ์ใหม่ และเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปทดลองปลูกในแปลงเกษตรกร และเมื่อได้ผลผลิตออกมาก็จะนำไปเปิดตลาดข้าวโลก เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าต่อไป


กระชับสัมพันธ์คู่ค้าฮ่องกง-จีน

สำหรับการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้า นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมฯ ได้จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ และขยายตลาดสินค้าข้าวที่ฮ่องกง และจีน โดยที่ฮ่องกง กรมฯ ได้ร่วมกับ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ และคณะผู้ส่งออกรวม 16 ราย พบปะหารือกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวฮ่องกง และบริษัทผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงรายสำคัญ เพื่อหารือถึงสถานการณ์การค้าข้าวไทยกับฮ่องกง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยดี และมีความเชื่อมั่นที่จะทำการซื้อขายข้าวระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นคู่ค้ากันมานาน

ทั้งนี้ ปัจจุบันฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย แต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปฮ่องกงประมาณ 1.7-1.88 แสนตัน โดย 70-80% เป็นการส่งออกข้าวหอมมะลิ และฮ่องกงยังเป็นตลาดข้าวหอมมะลิไทยอยู่อันดับ 1 ใน 3 มาโดยตลอด ที่สำคัญ ข้าวไทยครองส่วนแบ่งตลาดข้าวฮ่องกงเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของตลาดข้าวฮ่องกง โดยในช่วง 4 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกข้าวไปฮ่องกง 50,107 ตัน ลดลง 12% เพราะแนวโน้มการบริโภคข้าวในฮ่องกงลดลง คนรุ่นใหม่ลดการบริโภคแป้ง จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และเพิ่งฟื้นจากโควิด-19 แต่ยังมั่นใจว่าไทยจะครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในฮ่องกงได้ต่อไป เพราะผู้นำเข้าเอง ก็ยืนยันที่จะนำเข้าข้าวไทยต่อเนื่อง

ส่วนที่จีน กรมฯ และภาคเอกชนได้พบปะกับองค์การบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐของจีน (SAMR) โดยได้ขอบคุณที่สั่งปิดโรงงาน และดำเนินคดีอย่างรวดเร็วกับโรงงานที่นำข้าวที่ปลูกในจีนแอบอ้างเป็นข้าวหอมมะลิไทยและวางจำหน่ายในจีน และกรมฯ ได้ใช้โอกาสนี้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพ มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย และวิธีการสังเกตหรือเลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งจากประเทศไทย รวมทั้งได้หารือกับผู้นำเข้าและผู้ประกอบการสินค้าข้าวในจีน เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยและข้าวหอมมะลิไทยควบคู่กับเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยให้รับทราบถึงคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทย และหารือกับ COFCO Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้รัฐบาลจีนและเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตและการนำเข้าธัญพืชของจีนเพื่อหารือถึงสถานการณ์การนำเข้าข้าวจากไทยด้วย ซึ่งแต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปจีนประมาณ 6-7 แสนตัน แต่ช่วง 4 เดือนของปี 2566 ไทยส่งออกข้าวไปจีน 1.3 แสนตัน ลดลง 46% ซึ่งเป็นผลจากที่จีนมีนโยบายหันมาพึ่งตนเอง แต่ก็ยังมั่นใจว่าการส่งออกข้าวไทยไปจีนทั้งปีจะยังคงมีโอกาสเพิ่มขึ้น

“จากการที่กรมฯ ได้ไปสำรวจศูนย์รวบรวมสินค้าของจีน พบว่ามีข้าวที่จีนนำเข้าจากไทยโดยตรงเพียงยี่ห้อเดียว ทั้งๆ ที่ในตลาดมีข้าวเป็น 100 ยี่ห้อ ทำให้มองเห็นโอกาสว่าข้าวไทยสามารถที่จะเจาะเข้าสู่ตลาดจีนได้อีก ซึ่งกรมฯ จะร่วมมือกับทูตพาณิชย์ในจีนทำการประชาสัมพันธ์ข้าวไทย วิธีการดูข้าวไทยที่แท้เป็นอย่างไร มาตรฐานเป็นอย่างไร และตราสีเขียวเป็นอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้มีการบริโภคข้าวไทยเพิ่มขึ้นต่อไป” นายรณรงค์กล่าว


ปัจจัยหนุนส่งออกข้าวไทยมีเพียบ

นายรณรงค์กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกข้าวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่าปีก่อน ทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ดีขึ้น และปัจจุบันราคาข้าวไทยใกล้เคียงกับข้าวของเวียดนาม ห่างกันไม่มาก ทำให้คู่ค้าตัดสินใจซื้อข้าวไทยได้ไม่ยาก เพราะข้าวไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน การส่งมอบตรงเวลา และข้าวไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกมากขึ้น สามารถสนองตอบต่อความต้องการของตลาดได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย และทั่วโลกมีความต้องการซื้อข้าวเพิ่มขึ้น จึงส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวของไทยที่ได้รับการติดต่อซื้อมากขึ้น

ขณะเดียวกัน หลายประเทศได้เริ่มมีความกังวลในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร อย่างอินโดนีเซีย ที่มาติดต่อขอซื้อข้าวไทยไว้ล่วงหน้า เพราะมีความกังวลในเรื่องนี้ และในการประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB Board member) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ก็มีการประเมินสถานการณ์อาหารในภูมิภาคอาเซียน ภาพรวมปี 2566 ทั้งข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลืองด้วย

“ภาพรวมปี 2566 อาเซียนมีผลผลิตข้าวและน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกไปทั่วโลก แต่มีผลผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพดไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค จึงยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยคาดว่าในปี 2566 อาเซียนจะนำเข้าถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นประมาณ 7.89% และนำเข้าข้าวโพดลดลง 8.68% ซึ่งผลจากความกังวลในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีความต้องการข้าวไทยเพิ่มมากขึ้น” นายรณรงค์กล่าว


เปิดแผนขยายตลาดข้าวช่วงที่เหลือ

ทางด้านการขยายตลาดข้าวในช่วงที่เหลือของปีนี้ นายรณรงค์กล่าวว่า กรมฯ จะจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางไปพบปะหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของคู่ค้าที่สำคัญ เช่น เดือน ก.ค. 2566 จะไปฟิลิปปินส์ ที่อดีตเคยเป็นตลาดข้าวของไทย แต่ที่ผ่านมาได้หันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนาม และล่าสุดเวียดนามมีเป้าที่จะลดการผลิตข้าว และหันไปเพาะปลูกข้าวคุณภาพสูง ซึ่งไทยจะไปกระชับความสัมพันธ์และหาโอกาสในการขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์ และทวงตลาดกลับคืนมา

จากนั้นเดือน ส.ค. 2566 มีกำหนดไปมาเลเซีย ไปเปิดตลาดข้าวขาว สิงคโปร์ ไปเปิดตลาดข้าวหอมมะลิไทย ญี่ปุ่น ไปเปิดตลาดข้าวขาวและข้าวหอมมะลิไทย และอินโดนีเซีย จะมีการจัดคณะไปหารือด้วย หลังจากที่ล่าสุดอินโดนีเซียได้แจ้งความประสงค์มาว่าต้องการซื้อข้าวไทยในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพราะอินโดนีเซียมีความกังวลในเรื่องการขาดแคลนข้าว แต่ไทยยังไม่ได้พิจารณา และแจ้งว่าหากซื้อขายกับเอกชนน่าจะเร็วกว่า

นอกจากนี้ กรมฯ จะร่วมมือกับทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทย แนะนำการซื้อข้าวหอมมะลิไทยแท้ ประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการบริโภคข้าวไทย และสร้างการรับรู้ข้าวไทย ซึ่งจะทำให้มีความต้องการข้าวไทยเพิ่มขึ้น

คาดปีนี้ยอดส่งออกเกิน 8 ล้านตัน

นายรณรงค์กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกแล้วปริมาณ 3.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกปริมาณ 2.74 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 26.64% มูลค่า 64,322 ล้านบาท หรือ 1,896 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 47,785 ล้านบาท หรือ 1,452 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 34.61% และ 30.58% ตามลำดับ

จากความต้องการข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น มีปัจจัยบวกหลายปัจจัยที่ช่วยให้ข้าวไทยแข่งขันได้มากขึ้น และกรมฯ มีแผนที่จะบุกขยายตลาดข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปีนี้เชื่อว่าการส่งออกข้าวไทยจะทำได้เกินเป้า และปริมาณทะลุ 8 ล้านตันอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น