ปตท.สผ.ลุ้นไทย-กัมพูชาได้ข้อตกลงร่วมกันเพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน OCA ระบุน่าเป็นแหล่งที่มีศักยภาพต่อเนื่องใกล้เคียงแหล่ง G1/61 ของไทย โดย ปตท.สผ.พร้อมดำเนินการสำรวจและผลิต หากได้ข้อตกลงร่วมกัน มั่นใจภายใน 5 ปีได้ First Gas
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงกรณีที่นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา กำหนดการเดินทางมาเยือนไทยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas-OCA) กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกันว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องหาวิธีเจรจาตกลงกันให้ได้ว่าจะพัฒนาร่วมกันอย่างไรเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ ซึ่ง ปตท.สผ.มีแหล่งผลิตที่อยู่ใกล้พื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว คือ แหล่ง G1/51 (เอราวัณ)
ส่วนตัวมองว่าการเดินหน้าพัฒนาโครงการในพื้นที่ OCA ไม่ต้องแบ่งเส้นเขตแดน แต่หวังว่าจะมีการพัฒนาร่วมกัน เช่นเดียวกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ซึ่งตกลงร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกเขตแดนแต่สามารถสำรวจและผลิตร่วมกันได้ ดังนั้นในส่วนของ OCA หากตกลงกันได้ก็ขึ้นกับภาครัฐว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ซึ่งปตท.สผ.พร้อมดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากมีโครงการ G1/61 (เอราวัณ) ใกล้พื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว
ทั้งนี้ พื้นที่ OCA ยังไม่มีการสำรวจทางธรณีวิทยา ที่ผ่านมาเป็นการคาดเดาว่ามีศักยภาพ เพราะเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับแหล่งเอราวัณ หากตกลงร่วมกันได้และเปิดให้มีการสำรวจและพัฒนาฯ คาดว่าจะนำก๊าซฯขึ้นมาได้ (First Gas) ภายใน 5 ปี ซึ่งเร็วกว่าในอดีตที่จะต้องใช้เวลาในการทำ E&P นานถึง 9 ปี เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้นทำให้การสำรวจและผลิตทำได้รวดเร็วขึ้น
นายมนตรีกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ยังเป็นห่วงคือแหล่งปิโตรเลียมไพลิน ที่เชฟรอนฯ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวจะสิ้นสุดสัมปทานลงในปี 2571 หากไม่ได้ต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปี หรือมีความล่าช้าก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซฯ ที่จะลดลงซ้ำรอยแหล่งเอราวัณ ซึ่งปัจจุบันแหล่งไพลินมีกำลังผลิตอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน