ลุ้นวันนี้! บอร์ด ปตท.เห็นชอบตั้ง CEO ปตท.คนที่ 11 ต่อจาก "อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" ที่ครบวาระ 4 ปีในเดือน พ.ค.นี้ ส่วนการยื่นฟ้อง กกพ.ในคำสั่งให้ ปตท.จ่ายค่า Shortfall 4,300 ล้านบาทอยู่ระหว่างพิจารณา แต่ยืนยันพร้อมทำตามคำสั่ง กกพ. ส่วนปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ปตท.อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า 6,500 ล้านบาทเนื่องจาก LNG ตลาดจรช่วงนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ปตท. วันนี้ (25 ม.ค.) จะมีวาระพิจารณาเห็นชอบ 1 ใน 5 ของผู้สมัครประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) ปตท.คนใหม่ต่อจากนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่จะครบวาระ 4 ปีในวันที่ 13 พ.ค. 2567 ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ เสนอชื่อมา
สำหรับรายชื่อผู้สมัคร ได้แก่ 1. นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC
2. นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่ และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
3. ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
4. นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
5. นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
นายอรรถพลกล่าวว่า ผลการดำเนินการในปี 2566 เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งธุรกิจเดิมที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมและธุรกิจต่อเนื่อง รวมไปถึงธุรกิจใหม่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 เมกะวัตต์ และจะเดินหน้าให้ครบ 15,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 โครงการลงทุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ซึ่งมีทั้งโรงงานร่วมทุนเพื่อรับจ้างประกอบรถยนต์ตามคำสั่ง ซึ่งในขณะนี้มีการเจรจาธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) โภชนาการอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
ขณะเดียวกัน ปตท.พร้อมดำเนินการตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ส่งหนังสือถึง ปตท. เพื่อให้คืน Shortfall หรือเงินที่ผู้ขายผิดสัญญาไม่สามารถส่งก๊าซฯ ให้ผู้ซื้อได้ตามกำหนดให้ส่งก๊าซในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ภายใต้สัญญา DCQ (Daily Contract Quantity) จะถูกลงโทษโดยส่งมอบก๊าซส่วนที่ขาดในภายหลังด้วยราคาที่ลดลง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าจำนวน 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยช่วงปลายปี 2564 มาจนถึงต้นปี 2565 เพื่อร่วมลดค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน โดยหักลบกลบหนี้ จากราคาก๊าซในงวดเดือนมกราคม 2567
ส่วน ปตท.จะมีการฟ้องร้องศาล และอัยการสูงสุดต่อคำสั่งของ กกพ.หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องในอนาคตที่อาจจะพิจารณาต่อไป
นายอรรถพลกล่าวถึงกรณีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ส่งผลให้ต้นทุนของโรงแยกก๊าซฯ เปลี่ยนแปลงจากก๊าซฯ ในอ่าวไทยเป็นต้นทุนถัวเฉลี่ยก๊าซฯ จากทุกแหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย พม่า และก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) (“Pool Gas”) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่จะปรับสูงขึ้น ยกเว้นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะสั้นจนกว่าจะมีการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซฯ อย่างเป็นทางการโดย กกพ.แล้วเสร็จนั้น ปตท.ประเมินว่า ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเบื้องต้น จะสะท้อนผ่านผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจก๊าซฯ ของ ปตท.ปรับตัวลดลงประมาณ 6,500 ล้านบาทในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ซึ่งขณะนี้ราคา LNG ตลาดจรอยู่ที่ประมาณ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ต่ำกว่าที่ประมาณการที่ 13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ดังนั้นผลกระทบอาจจะไม่ถึง 6,500 ล้านบาท
“การปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษารูปแบบ Pool Gas ที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต แต่จากผลกระทบที่ประเมินออกมาในระยะสั้นนั้นอาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้ เพราะราคานำเข้า LNG ตลาดจรช่วงนี้ราคาไม่ได้สูงขึ้นมากนัก ก็อาจช่วยให้ภาระส่วนต่างราคาลดลงได้บ้าง”