กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ตั้งเป้าผลักดัน “กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต” ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ขยายโอกาสทางการค้าให้เกษตรกร และช่วยสนับสนุนนโยบาย Soft Power ด้านอาหาร
น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อสำรวจแหล่งเพาะเลี้ยง “กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต” และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการท้องถิ่นในการเตรียมผลักดันขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้เพิ่มมูลค่าให้สินค้าท้องถิ่น และขยายโอกาสทางการค้าให้แก่เกษตรกร
สำหรับกุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีชื่อเสียง นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดภูเก็ตจะนึกถึงเมนูกุ้งมังกรเป็นอันดับต้นๆ โดยกุ้งมังกร 7 สีภูเก็ตมีหัวและลำตัวขนาดใหญ่ เปลือกแข็งหนา มีหนวดแข็งแรง ตัวกุ้งมีหลายสีสวยงาม มีน้ำหนักตัว 3.5-4.5 กิโลกรัม สามารถบริโภคได้ทั้งแบบสดและผ่านการปรุง มีการเพาะเลี้ยงในบริเวณทะเลรอบเกาะภูเก็ตและเกาะบริวาร จัดว่าเป็นอาหารทะเลที่มีราคาสูง มีการจัดเทศกาล Phuket Lobster Festival เป็นประจำต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี อีกทั้งยังเคยได้รับคัดเลือกให้เป็นวัตถุดิบหลักในเมนูงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ APEC 2022
“การลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตครั้งนี้ กรมมีเป้าหมายในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และศึกษาความเป็นไปได้ในการนำสินค้ากุ้งมังกร 7 สีภูเก็ตเข้าสู่ระบบการคุ้มครอง GI พร้อมส่งเสริมให้เป็น Soft Power ด้านอาหารของไทย โดยได้มีการประชุมหารือ ระดมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ ตลอดจนได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตสินค้า ณ แหล่งผลิตสินค้าด้วย” น.ส.กนิษฐากล่าว
ที่ผ่านมากรมได้สนับสนุนและส่งเสริมสินค้า GI ของจังหวัดภูเก็ตอย่างครบวงจร โดยมีการควบคุมคุณภาพสินค้า GI 2 รายการ ได้แก่ สับปะรดภูเก็ต และมุกภูเก็ต รวมทั้งว่าที่สินค้า GI ที่อยู่ระหว่างการประกาศโฆษณา 1 รายการ ได้แก่ ส้มควายภูเก็ต ตลอดจนเฟ้นหาสินค้า GI รายการใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตถือได้ว่าเป็นจังหวัดท่องเที่ยวอันดับที่ 1 ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จากการสรุปสถานการณ์การท่องเที่ยวเมื่อปี 2566 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 10 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 330,000 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจท้องถิ่นขยายตัวอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในจังหวัด เช่น ด้านอาหาร เกษตร ประมง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างเข้มแข็ง