SCGP ตั้งเป้ารายได้ปี 67 โต 15% แตะ 150,000 ล้านบาท จากปี 66 ที่บริษัทมีรายได้ 129,398 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,248 ล้านบาท ลดลง 10% พร้อมอัดงบลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท คาด M&P ในปีนี้ 1-2 โครงการ
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้จากการขายอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน 15% เนื่องจากตลาดบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มฟื้นตัวโดยเฉพาะอาเซียน เช่น ประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงจีน มีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มลดลงจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลมีแนวโน้มทรงตัวจนถึงเพิ่มขึ้น แต่มีปัจจัยลบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางส่งผลให้การปรับค่าระวางเรือขนส่งสินค้าอาจปรับขึ้น
ทั้งนี้ เป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ 150,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเป้าหมายรายได้เดิมเมื่อปี 2566 ที่บริษัทเคยตั้งเป้าไว้ที่ 160,000 ล้านบาท แต่ปี 2566 บริษัทมีรายได้พลาดเป้าอยู่ที่ 129,398 ล้านบาท
สำหรับงบลงทุนบริษัทในปี 2567 อยู่ที่ 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตสูง อย่างธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เฮลท์แคร์ บรรจุภัณฑ์อาหาร และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Bio-Solutions ที่เป็นเมกะเทรนด์ การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ โดยปีนี้คาดว่าจะมีการลงทุนควบรวมกิจการและร่วมมือกับพันธมิตร (Merger & Partnership - M&P) ราว 1-2 โครงการ จากปีก่อนปิดดีล M&P 3 โครงการ
ส่วนความคืบหน้าโครงการขยายฐานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่เวียดนามตอนเหนือ มูลค่าการลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีที่แล้วได้ชะลอการลงทุนไปก่อนหลังดีมานด์จีนลดลงว่า การตัดสินใจเลื่อนการลงทุนไปก่อนเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งในปีที่ผ่านมาโรงงานกระดาษบรรจุภัณฑ์ใช้อัตรากำลังผลิตลดลงจากเดิม 95% เหลือเพียง 80-85% หลังจีนนำเข้าลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าในปลายปีนี้จะตัดสินใจเดินหน้าโครงการดังกล่าวหรือไม่
ผลประกอบการบริษัทฯ ในปี 2566 มีรายได้จากการขาย 129,398 ล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อนมี EBITDA 17,769 ล้านบาท ลดลง 8% จากปีก่อน และมีกำไรสำหรับปีอยู่ที่ 5,248 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อน โดยมีอัตรา EBITDA Margin ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 14% จากปีก่อนที่ 13% จากการบริหารต้นทุนและการผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ มียอดขายบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังแข็งแกร่ง แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมกระดาษบรรจุภัณฑ์ปีที่ผ่านมามีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น และมีปัจจัยอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงกระทบกำลังซื้อของผู้บริโภค ทั้งนี้ปัจจุบันสถานการณ์ราคาขายกระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษในภูมิภาคผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อในภูมิภาคอาเซียนและประเทศจีน
ส่วนไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการขาย 31,881 ล้านบาท ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วน EBITDA 4,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสำหรับงวด 1,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท โดยบริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลงวดระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท ในวันที่ 22 เมษายน 2567 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 3 เมษายน 2567 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 2 เมษายน 2567