xs
xsm
sm
md
lg

“อินโนบิก” เร่งขยายธุรกิจ-M&A เพิ่มปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ ปตท.ตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพื่อเป็นแกนนำขับเคลื่อนสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) จนประสบความสำเร็จภายในช่วงระยะเวลาอันสั้น สร้างกำไรคืนให้บริษัทแม่อย่างเป็นกอบเป็นกำ และในอนาคต ปตท.มีแผนนำ "อินโนบิก" เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย

ปัจจุบันธุรกิจที่อินโนบิกทุ่มเงินเข้าไปลงทุนมีทั้งธุรกิจยา ธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ และธุรกิจโภชนาการ ซึ่งธุรกิจยา ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรให้อินโนบิกมากที่สุดเมื่อเทียบกับอีกธุรกิจที่เหลือ

หากมองย้อนกลับไป ปตท.รุกสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต นับเป็นการขยายธุรกิจใหม่ New S-Curve ที่ฉีกแนวจากธุรกิจอื่นที่ ปตท.เคยลงทุนมา ต้องยอมรับว่าเป็นธุรกิจใหม่สอดรับเทรนด์การดูแลใส่ใจรักษาสุขภาพของประชากรมากขึ้น ซึ่ง ปตท.ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเจาะตลาดนี้ และไม่มีเวลามากพอที่จะค่อยๆ เรียนรู้ ทางลัดที่จะเข้าสู่ตลาดนี้ได้อย่างรวดเร็วจำเป็นต้องมีพันธมิตรร่วมทุนที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความต้องการเงินทุนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ

จุดนี้เองทำให้ ปตท.จึงจัดตั้งบริษัทอินโนบิกเมื่อปลายปี 2563 และเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้นอินโนบิกก็เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทโลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาชั้นนำในตลาดเกาหลี สหรัฐอเมริกา และไต้หวันเมื่อเดือนเมษายน 2564 โดยอินโนบิกถือหุ้นในบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล สัดส่วน 6.66% นับเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 รองจากกลุ่ม Alvogen บริษัทเภสัชกรรมนานาชาติเอกชนขนาดใหญ่
“ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นไปตามทิศทางการดำเนินธุรกิจร่วมกับพันธมิตร เพื่อผสมผสานความเชี่ยวชาญ ต่อยอดองค์ความรู้ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน โดยบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล ถือเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว ด้วยการดำเนินธุรกิจยาสามัญชั้นนำครบวงจรตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายในตลาดเกาหลี สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน ตลอดจนการมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ อินโนบิก นับเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจ Life Science ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม” นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บมจ.ปตท. และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เคยกล่าวไว้


อินโนบิกรับรู้กำไรจากการเข้าลงทุนใน "โลตัส ฟาร์มาซูติคอล" เป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นในปลายปี 2564 อินโนบิกตัดสินใจเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโลตัส ฟาร์มาซูติคอล เป็น 37% หลังจากที่อินโนบิกได้ร่วมกับแอซทีค (Aztiq) เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท อัลโวเจน อีเมอร์จิง มาร์เก็ต โฮลดิ้ง จำกัด (Alvogen Emerging Markets Holdings Limited : AEMH) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักในโลตัส ฟาร์มาซูติคอลและถือหุ้น 100% ของบริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo) บริษัทด้านการซื้อขายยาและสิทธิบัตรที่มีเครือข่ายทั่วโลก ในมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 475 ล้านเหรียญสหรัฐ และปิดดีลในช่วงไตรมาส 1/2565

ส่งผลให้อินโนบิกก้าวขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นหลักในโลตัส ฟาร์มาซูติคอลที่สัดส่วน 37% และถือหุ้นประมาณ 60% ใน Adalvo ด้วย

จากความร่วมมือกับ Aztiq นี้ช่วยร่นระยะเวลาทำให้อินโนบิกก้าวกระโดดเป็นผู้ดำเนินธุรกิจยาแบบครบวงจรได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งการเป็นผู้ถือหุ้นหลักในโลตัส ฟาร์มาซูติคอลทำให้อินโนบิกมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจยาครบวงจรตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาสูตรยา รวมถึงการผลิตและจัดจำหน่าย โดยมุ่งเน้นที่ยาสามัญครอบคลุมหลายกลุ่มโรคโดยเฉพาะโรคมะเร็งและโรคระบบประสาทด้วย ส่งผลให้ผลประกอบการของอินโนบิกในปี 2565 มีกำไรเติบโตเพิ่มขึ้น

ล่าสุดต้นปีนี้อินโนบิกขายเงินลงทุนในบริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo) ให้กับบริษัทในกลุ่ม Aztiq โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศลักเซมเบิร์ก การทำธุรกรรมดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งการจำหน่ายหุ้น Adalvo ในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแผนการทำธุรกิจ โดยอินโนบิกยังคงมุ่งเน้นการลงทุน
ในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ Adalvo เน้นการทำธุรกิจในทวีปยุโรปเป็นหลัก

สำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย อินโนบิกได้จับมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำงานวิจัยทางด้านสุขภาพและเทคโนโลยีสุขภาพมาต่อยอดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2566 โดยผลิตภัณฑ์แรก ร่วมดำเนินงานกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว อินโนบิก โปร เบต้า-กลูแคน พลัส (Innobic Pro Beta-Glucan+) และผลิตภัณฑ์ อินโนบิก โพรไบโอติกส์ จีดี (Innobic Probiotics GD) ที่ได้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อชิมลางตลาดอาหารเสริมในไทยที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 75,000 ล้านบาท แค่มูลค่าตลาดเฉพาะ โปรไบโอติกส์ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยสินค้าดังกล่าววางจำหน่ายที่ร้าน Lab Pharmacy ทุกสาขาและร้านขายยาชั้นนำทั่วประเทศ ช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Shopee

รวมทั้งบริษัทยังได้จับมือกับแพทย์แผนไทยประยุกต์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นำสมุนไพรตรีผลามาต่อยอดเป็นกัมมีกลิ่นรสตรีผลาและโคลาภายใต้แบรนด์ อินนอริช (Innourish) ทำให้สมุนไพรไทยเข้าถึงผู้บริโภครุ่นใหม่และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทย ด้วย โดยตรีผลาเป็นยาแผนโบราณที่มีส่วนผสมจากผลไม้ 3 ชนิด คือ มะขามป้อม ให้วิตามินซีสูง ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ สมอไทย มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบขับถ่าย และสมอพิเภก มีคุณสมบัติในการปรับสมดุลธาตุ


นอกจากนี้ อินโนบิกก็ทยอยออกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอินโนบิก โปรไบโอติกส์ แอลดี ซึ่งร่วมกับ วว. ผลิตภัณฑ์อินโนบิก โปร แซลมอน ออยล์ (น้ำมันปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ 1,000 มก.) ผลิตภัณฑ์อินโนบิก เดลี่ นิวทริเจน ยู/เอ็ม/เอส วิตามินรวม 8 ชนิด เป็นต้น

ในอนาคตอินโนบิกมีแผนที่จะขยายตลาดในกลุ่มสินค้าอาหารสำหรับผู้ป่วยและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่หลากหลายขึ้น อาทิ โปรไบโอติกลดไขมัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค


นอกจากนี้ ทางโลตัส ฟาร์มาซูติคอล ก็มีแผนซื้อเทคโนโลยีไลเซนส์ยารักษาสำหรับผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือ Bipolar disorder ที่ได้รับการประเมินจากแพทย์ว่ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เพื่อจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ คาดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่จะสร้างรายได้และกำไรให้บริษัทชดเชยกำไรจากยาต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่น่าจะลดลง เนื่องจากสิทธิบัตรยาต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะสิ้นสุดลงในปี 2568 ทำให้บริษัทผู้ผลิตยารายอื่นๆสามารถผลิตยาต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพื่อจำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกาได้แล้ว การแข่งขันในตลาดย่อมสูงขึ้น แต่ข้อดี คือโลตัส ฟาร์มาซูคิคอลจะไม่ต้องเจอข้อจำกัดเพดานการจำหน่ายยาชนิดนี้อีกต่อไป

 

ปี 2567 อินโนบิกมุ่งแสวงหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมใน 3 ธุรกิจหลัก รวมไปถึงการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงงานผลิตยาในไทย ทำให้บริษัทรับรู้รายได้ทันที และอาจดึงโลตัส ฟาร์มาซูติคอลเข้าร่วมลงทุนเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตยาแห่งใหม่ให้กับโลตัส เจาะตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันโลตัส ฟาร์มาซูติคอลไม่มีโรงงานผลิตยาตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้

ส่วนความคืบหน้าการร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตยาต้านมะเร็งประเภทชีววัตถุคล้ายคลึง (ยาพุ่งเป้า) ระหว่างอินโนบิกกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด พร้อมกับหาพันธมิตรที่มีเทคโนโลยีมาร่วมทุนด้วย ยอมรับว่าการเข้าสู่ตลาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนตัดสินใจลงทุนต้องมั่นใจว่ามีตลาดรองรับ เพราะมูลค่าการลงทุนสูงมาก และใช้เวลาก่อสร้างนาน ดังนั้นจึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะร่วมกับอภ.และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้งโรงงานผลิตสารตั้งต้น (API) ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยจะผลิตสารตั้งต้น (API) ยา เช่นยารักษาโรคธาลัสซีเมียหรือโรคโลหิตจาง ฯลฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเบื้องต้นราว 1,300 ล้านบาท

ส่วนการพัฒนาวิจัยโมเลกุลมณีแดงหรือ RED-GEMs ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับ ปตท.และอินโนบิกในการวิจัยพัฒนาโมเลกุลมณีแดงที่ช่วยปกป้องดีเอ็นเอ ทำให้เซลล์ที่เสื่อมลงแล้วกลับมาดีขึ้น ป้องกันความแก่ชราในดีเอ็นเอเมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น โดยโครงการนี้ต้องใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาอีกหลายปี ปัจจุบันได้มีการทดสอบกับลิงแล้ว ในอนาคตจะทดสอบในมนุษย์ หากได้ผลลัพธ์ที่ดีก็เตรียมความพร้อมในกระบวนการผลิตโมเลกุลมณีแดงสู่สังคม

ทั้งนี้ อินโนบิกเร่งขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ ปตท.กำหนดไว้ว่าในปี 2573 มีกำไรจากธุรกิจใหม่กว่า 30% ซึ่งธุรกิจ Life Science ที่อินโนบิกเป็นแกนนำก็เป็นหนึ่งในหลายธุรกิจใหม่ของ ปตท.


กำลังโหลดความคิดเห็น