กรมการค้าภายในประสานผู้ประกอบการรายใหญ่ลงพื้นที่รับซื้อพริกชี้ฟ้า จ.อุบลราชธานี และศรีสะเกษ เพื่อช่วยเร่งระบายผลผลิตออกจากแหล่งผลิต เตรียมนำขายผ่านโมบายล์พาณิชย์ 100 จุด พร้อมดึงห้างท้องถิ่นซื้อไปขายด้วย ส่วนหอมแดง ได้เข้าช่วยเหลือก่อนหน้านี้แล้ว พร้อมเตรียมรับมือผักกาดลุ้ย และมะเขือเทศ
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวราคาพริกชี้ฟ้าใน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีการปรับตัวลดลงจากเดิมที่ 100 บาท/กิโลกรัม (กก.) เหลือ 30 บาท/กก. ว่า กรมได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานีลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าปัจจุบันผลผลิตพริกใน จ.อุบลราชธานี และหลายพื้นที่ในภาคอีสานกำลังทยอยออกสู่ตลาดพร้อมๆ กัน ราคามีการปรับตัวลดลงตามกลไกตลาด แต่กรมได้ประสานผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกใน อ.กันทรารมย์ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ในราคานำตลาด เพื่อนำมาจำหน่ายผ่านโมบายพาณิชย์ 100 จุด ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และยังได้รับความร่วมมือจากห้างท้องถิ่น เข้าร่วมรับซื้อ ซึ่งจะเป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้เกษตรกรผู้ปลูกพริกในช่วงนี้
“กรมได้เข้าไปดูแลทันที โดยประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อ และเร่งระบายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตโดยเร็ว เพื่อช่วยดูแลเกษตรกรให้ขายผลผลิตได้คุ้มต้นทุน และดึงราคาให้ปรับตัวสูงขึ้น”
ทั้งนี้ ผลผลิตพริกชี้ฟ้าใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญอันดับหนึ่งของประเทศ มีปริมาณ 3,120 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 189 ตัน โดยการปลูกพริกในภาคอีสานจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเดือนสิงหาคม ผลผลิตออกช่วงพฤศจิกายน (3 เดือน) ราคาหน้าสวนอยู่ที่ 90-100 บาท/กก. และช่วงที่ 2 ปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ผลผลิตออกช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งผลผลิตพริกจะออกพร้อมกัน ทั้งใน จ.อุบลราชธานี (อ.ม่วงสามสิบ อ.เหล่าเสือโก้ก อ.พิบูลมังสาหาร) และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร
นายกรนิจกล่าวว่า ในส่วนของกรณีที่เป็นข่าว สำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกับนายประเสริฐ ผลาผล เกษตรกรบ้านทุ่งขามเหนือ ต.หัวเรือ พบว่า นายประเสริฐได้ปลูกพริก จำนวน 1 แปลง มีพื้นที่ประมาณครึ่งงาน ไม่ได้ปลูกเพื่อจำหน่าย แต่หากปลูกไว้เพื่อแปรรูปเป็นพริกแห้งเพื่อบริโภคในครัวเรือน และปัจจุบันพริกในสวนของนายประเสริฐยังมิได้เก็บเกี่ยว อีกทั้งนายประเสริฐยังได้ให้ข้อมูลว่า โดยส่วนใหญ่ตนรับจ้างเก็บพริกในสวนของเกษตรกรรายอื่นโดยได้ค่าจ้างเก็บพริกกิโลกรัมละ 8-10 บาท
อย่างไรก็ตาม กรมได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ ได้แก่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การรับซื้อพริกอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ผลผลิตออกสู่ตลาดในเวลาเดียวกัน และเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา หากเกษตรกร พบเห็นการจำหน่ายไม่เป็นธรรมสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด
นายกรนิจกล่าวอีกว่า สำหรับสินค้าหอมแดง กรมได้ติดตามการรับซื้อหอมแดงในจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้ทำการเชื่อมโยงการซื้อขายหอมแดงล่วงหน้าผ่านตลาดข้อตกลงมาตรฐานของกรม โดยประสานผู้ประกอบการ ได้แก่ CP-Axtra (Makro Lotus) BigC Tops The mall ซึ่งจะนำไปกระจายผ่านสาขาของห้าง, ผู้รวบรวมอีก 5 ราย จะรับซื้อและนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ และในส่วนของสถานีบริการน้ำมัน ทั้ง PT PTT Station บางจาก เชลล์ รับซื้อไปแจกเป็นของสมนาคุณให้แก่ผู้มาเติมน้ำมัน โดยเข้ารับซื้อหอมแดงจากเกษตรกร 3 อำเภอ ได้แก่ ยางชุมน้อย กันทรารมย์ ราษีไศล แบ่งเป็น กันทรารมย์ 5 กลุ่ม ยางชุมน้อย 3 กลุ่ม ราษีไศล 8 กลุ่ม มีการรับซื้อทั้งผลสดและแห้ง แบ่งเป็นหอมแดงสด 5,600 ตัน แห้ง 425 ตัน รวมทั้งหมด 6,875 ตัน เพื่อช่วยระบายผลผลิต
ขณะเดียวกัน กรมได้มีการนำหอมแดงไปขายผ่านรถโมบายล์ธงฟ้าในกรุงเทพฯ โดยสามารถติดตามจุดจำหน่ายได้ที่ ไลน์ @mobilepanich และประสานห้างท้องถิ่น ให้เข้ามารับซื้อไปจำหน่ายผ่านสาขาของห้างด้วย
นอกจากนี้ ผลผลิตผักกาดลุ้ยและมะเขือเทศกำลังออกสู่ตลาด ซึ่งกรมได้ประสานผู้ประกอบการในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะเข้ารับซื้อ รวมถึงห้างท้องถิ่นทั่วประเทศเตรียมเปิดจุดช่วยจำหน่ายผลผลิตด้วย