OR ชงบอร์ดฯ อนุมัติโครงการอุทยานอเมซอนบนพื้นที่ 600 ไร่ที่ลำปางเพื่อปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน หวังปั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวในงาน OR Sustainability: SDG In Action ว่า บริษัทมีแผนลงทุนเพาะปลูกกาแฟเองอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการสนับสนุนเกษตรกรเพาะปลูกกาแฟที่จังหวัดเชียงใหม่ น่าน ชุมพร และแม่ฮ่องสอน โดย OR เตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้เพื่ออนุมัติโครงการอุทยานอเมซอน (Amazon Park) บนพื้นที่ 600 ไร่ในจังหวัดลำปางเพื่อพัฒนา วิจัย และเพาะพันธุ์ต้นกล้ากาแฟที่มีคุณภาพที่ดี ฯลฯ
โครงการ Amazon Park จะทำให้ OR มีกาแฟที่แตกต่างจากคู่แข่ง เนื่องจากบริษัทจะร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อคัดเลือกพันธุ์กาแฟที่ดี มีคุณภาพมาเพาะปลูก และส่งมอบต้นกล้าเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้เพาะปลูก โดย OR พร้อมรับซื้อเมล็ดกาแฟในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งต้นกาแฟพันธ์ุอะราบิกาจะต้องปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่เท่ากับเป็นการส่งเสริมการปลูกป่าแก้ปัญหาเขาหัวโล้นจากการตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งยังลดการนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศด้วย
สำหรับโครงการ Amazon Park จะพัฒนาเป็น 1 เฟส เฟสละ 300 ไร่ ซึ่งเฟสแรกจะเริ่มในปี 2567 ขณะนี้บริษัทได้ปรับปรุงพื้นที่และขุดบ่อน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกกาแฟ คาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการเพื่อให้ประชาชนเข้ามาท่องเที่ยวเยี่ยมชมได้ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า
“สาเหตุที่เลือกจังหวัดลำปางเพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เนื่องจาก OR มีคลังอยู่ที่ลำปางและมีพื้นที่เอง 600 ไร่ ทำโครงการ Amazon Park เพื่อพัฒนา วิจัยและเพาะพันธุ์กาแฟ นับเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดลำปาง ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและยกระดับเศรษฐกิจเมืองรอง ตลอดจนสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น” นายดิษทัตกล่าว
ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการบริโภคเมล็ดกาแฟมากถึง 80,000 ตันต่อปี แต่ไทยมีกำลังผลิตเมล็ดกาแฟเพียง 20,000 ตันต่อปี โดยคาเฟ่ อเมซอนที่ถือว่าเป็นผู้บริโภคเมล็ดกาแฟรายใหญ่มีความต้องการมากถึง 6,000 ตันต่อปี ดังนั้น Amazon Park จะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตกาแฟในไทยเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ตันต่อปี และยังสามารถทำคาร์บอนเครดิตได้ด้วย
นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภายใต้ชื่อ EV Station PluZ เพิ่มอีก 600-700 แห่ง หรือคิดเป็นราว 1,200 หัวจ่าย จากปัจจุบันที่มีสถานีชาร์จอีวีมากกว่า 700 แห่ง รองรับรถอีวีที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ 100,000 คัน
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะเปิดสถานีอีวีฮับซึ่งเป็นสถานีชาร์จอีวีที่มีหัวจ่าย DC มากกว่า 8-10 หัวจ่าย ตั้งเป้าปีนี้ 10 สถานี ซึ่งสถานีอีวีฮับนี้ห่างจากกรุงเทพฯ ไปราว 200-300 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนแต่ละแห่งราว 50 ล้านบาท จะเปิดให้บริการอีวีฮับแห่งแรกได้ในไตรมาส 3/2567
ทั้งนี้ OR จัดงาน OR Sustainability: SDG In Action ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG ผ่านวิถีการดำเนินงานด้วย SDG ในแบบฉบับของ OR โดยมีการนำประเด็นความยั่งยืนตามแนวทาง SDG ในแบบฉบับของ OR คือ S-Small โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก D-Diversified โอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ และ G-Green โอกาสเพื่อสังคมสะอาด มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน พร้อมทั้งนำเป้าหมาย OR 2030 Goals มาติดตามและทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนถูกผนวกเข้าไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง
OR ได้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง แบบ In Action ตั้งแต่กลยุทธ์ แผนปฏิบัติการและเป้าหมายธุรกิจจนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น วิภาวดี 62 โครงการไทยเด็ด การพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน ซึ่งส่งผลให้ OR ได้รับการยอมรับให้เป็นต้นแบบในการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งในระดับสากล และระดับประเทศในปี 2566
สำหรับความสำเร็จผ่านการลงมือทำในทั้ง 3 มิติของ ESG ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม (E - Environment), ด้านสังคม (S - Social) และด้านการกำกับดูแลที่ดี (G - Governance & Economics)
ด้านนายวิศน สุนทราจารย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน OR เปิดเผยว่า OR มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ตามหลักการ TCFD (Task Force on Climate-related Financial Disclosures) นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามหลักการ SBTi (Science Based Target Initiatives) และกำหนดกลยุทธ์ 3R ได้แก่ Reduce Remove และ Reinforce เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050