xs
xsm
sm
md
lg

ESG ในมุมมองมืออาชีพ “นักลงทุนสัมพันธ์” / รตินันทน์ วงศ์วัชรานนท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบัน ESG เป็นแนวทางสำคัญที่ทุกองค์กรควรตระหนักและนำมาผนวกเข้ากับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้มีผลิตภาพและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เป็นที่ยอมรับและสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม

นี่เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเทรนด์การลงทุนของโลก ที่นักลงทุนต่างพากันหันเข้าสู่โหมดการจัดสรรเงินลงทุนโดยใช้เกณฑ์การพิจารณาข้อมูล ESG มากขึ้นเรื่อยๆ

บริษัทที่มีแนวทาง ESG คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(E) สร้างคุณค่าต่อสังคม(S) บริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล (G) ก็จะมีโอกาสได้รับความสนใจจากสถาบันการลงทุนทั่วโลกมากขึ้น

จากข้อมูลของ UN Principle for Responsible Investment พบว่ากองทุนทั่วโลกที่อยู่ใน PRI Signatory ของสหประชาชาติ หรือการลงทุนที่มีความรับผิดชอบมีจำนวนสูงขึ้นถึง 5 เท่า จากมูลค่าเดิมประมาณ 30 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปี 2012 เพิ่มเป็นประมาณ 120 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4 เท่า ณ ไตรมาส3 ปี2023

ด้านสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ก็ให้ข้อมูลว่ากองทุนหุ้น ESG ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนพฤศจิกายน 2023 มี 71 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิคิดเป็น 4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9 กองทุน หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 45% จากต้นปี

ขณะที่บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุน มอร์นิ่งสตาร์ (Morningstar) รายงานว่ากองทุนยั่งยืนในประเทศไทยส่วนใหญ่กว่า 94% เป็นการลงทุนในต่างประเทศ ส่งผลให้เงินไหลออกสุทธิตั้งแต่ต้นปีทั้งสิ้น 1.8 พันล้านบาท ดังนั้นน่าจะดีกว่าไหม ถ้าในอนาคตบริษัทไทยสามารถดึงดูดเม็ดเงินส่วนนี้ได้มากยิ่งขึ้น

อีกทั้งล่าสุดหน่วยงานภาครัฐยังมีแนวคิดช่วยผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ผ่านการอนุมัติการจัดตั้งกองทุน Thai ESG Fund ขึ้น โดยเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ ที่มุ่งเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ความสำคัญกับแนว ESG และตราสารหนี้ประเภท ESG Bond จึงมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 16 แห่ง ทยอยออกกองทุน Thai ESGแล้วกว่า 22 กอง เป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุน พร้อมๆ กับเกื้อหนุนให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจในกรอบ ESG ควบคู่กันไป

เมื่อนักลงทุนทั่วโลกยุคนี้มีแนวโน้มใช้ ESG เป็นประเด็นพิจารณาการลงทุน เพื่อประเมินความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของบริษัทมากขึ้น โดยมองว่า “ESG คือกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ”

มีหลายประเทศเริ่มกำหนดให้ ESG เป็นมาตรฐานและหลักปฏิบัติในการดำเนินงานแล้ว เช่นนโยบายธรรมภิบาลการลงทุนของสหราชอาณาจักร (UK Stewardship Code) กำหนดให้นักลงทุนสถาบันเปิดเผยผลการนำ ESG มาประกอบการตัดสินใจในการลงทุน Stewardship Code จึงได้กลายเป็นต้นแบบที่หลายประเทศนำไปอ้างอิง ทั้งญี่ปุ่น มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ เป็นต้น

นอกจากนี้สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ยังสนับสนุนให้นักลงทุนตระหนักใน ESG ผ่านการออกหลักการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code : I Code) สำหรับนักลงทุนสถาบัน เพื่อเป็นมาตรฐานให้คำนึงถึง ESG และส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้การลงทุนในผลิตภัณฑ์ ESG ให้แก่นักลงทุนรายบุคคล พร้อมกำหนด ESG เป็นหลักสูตรที่จำเป็น สำหรับผู้ที่จะมาทำหน้าที่แนะนำและวิเคราะห์การลงทุนอีกด้วย

ส่งผลให้แต่ละ บลจ.มีการพัฒนาแนวทางเรื่องความยั่งยืนในมิติต่างๆ มีกฏเกณฑ์ในการวัด รวมทั้งพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการประเมินด้าน ESG ของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้มีการจัดตั้งเกณฑ์หุ้นยั่งยืน หรือ SET ESG Rating (ชื่อเดิม Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) มาตั้งแต่ปี 2558 โดยในปี 2566 มีถึง 193 บริษัท ที่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืน หรือคิดเป็น 72% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม

แสดงว่าทั้งภาคธุรกิจและนักลงทุนมีการตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องการดำเนินธุรกิจที่มุ่งความยั่งยืน ESG ซึ่งท้าทายว่าถ้าบริษัทใดอยู่ในอีก 28% ที่เหลือจะสามารถดึงดูความสนใจจากนักลงทุนได้อย่างไร

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือเล็กก็ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในแนวทางESG เพราะจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน หากบริษัทที่ไม่มีคุณสมบัติด้านESG ก็อาจไม่มีผู้ลงทุนสถาบันใดสามารถเข้ามาลงทุนด้วยได้

เพราะนักลงทุนต้องการ “การลงทุนที่ยั่งยืน” หรือ “Sustainable Investing” จึงไม่ได้ให้น้ำหนักกับบริษัทที่มีตัวเลขทางการเงินหวือหวาแค่ช่วงสั้นๆ แต่จะสนใจบริษัทที่สามารถดำรงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวมากกว่า

มีผลศึกษาและงานวิจัยของหลายหน่วยงานออกมาในทิศทางเดียวกันว่า ความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนด้วย ESG จะส่งผลดีต่อการลงทุนในระยะยาว และพบว่าบริษัทที่ทำจริงและมีคะแนนด้าน ESG ดี สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้สูงกว่าบริษัทที่ได้คะแนนด้าน ESG ต่ำ รวมถึงในตลาดที่พัฒนาแล้ว จะเห็นว่ามีเงินที่ไหลไปลงทุนในกองทุน ESG มากขึ้น

นอกจากนี้ผลการสำรวจของ Schroders Global investor Study 2023ระบุว่านักลงทุนกว่า 83%เชื่อว่าการลงทุนในบริษัท ที่คำนึงถึง แนวทางเพื่อความยั่งยืนจะมีผลดีต่อการลงทุน และนักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถึงระดับNet Zero รองลงมาคือ การใช้ต้นทุนทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

ยุคนี้การดูผลการดำเนินงานจากงบการเงินจึงไม่เพียงพอ นักลงทุนในปัจจุบันจึงคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆด้วย และตระหนักรู้ว่าธุรกิจที่มุ่งเน้นแต่การทำกำไร โดยไม่สนใจสังคมและความท้าทายรอบด้านที่เข้มข้นขึ้น จนไม่อาจรับมือและสร้างผลกำไรระยะยาวต่อไปได้

แนวโน้มความสนใจในการลงทุนด้วยหลักเกณฑ์ ESG จึงเป็นตัวเร่งทำให้แต่ละบริษัทต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อดึงดูเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ เพราะนโยบายธุรกิจแบบเดิมอาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

ทุกวันนี้ “ESG ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของธุรกิจ” และมิติของ ESG ในแต่ละบทบาทหน้าที่ก็อาจจะแตกต่างกัน เช่นในมุมนักลงทุน อาจจะมองทั้งในเชิงความเสี่ยง ว่าบริษัทบริหารความเสี่ยงในประเด็นESG ที่อาจจะเกิดขึ้นผลจากการดำเนินงานที่เกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง หรือมองในเชิงโอกาสทางธุรกิจ หากบริษัทเป็นที่ยอมรับในจุดเด่นESG ก็มีโอกาสได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน


"นักลงทุนสัมพันธ์ที่ดี ต้องรู้ว่าผู้รับข้อมูลคือใคร ให้ความสำคัญหรือสนใจกับเรื่องอะไรมากที่สุด เพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างเช่นผู้จัดการกองทุนฝั่งยุโรป เขาไม่ถามตัวเลขทางการเงินเลย แต่กลับถามแต่เรื่องกลยุทธ์ในระยะยาวของบริษัทว่ามองตัวเองเป็นอย่างไร ถ้าเกิด Climate Changeรุนแรง จะมีผลกระทบต่อบริษัทอย่างไรขนาดไหน ... และสำหรับบางกองทุน ถ้าบริษัทไม่มี ESG rating ที่สูงพอ เขาก็ไม่สามารถใส่เงินลงทุนได้เลย เพราะมีนโยบายชัดเจน"

บทความโดย รตินันทน์ วงศ์วัชรานนท์
ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์
ธนาคารไทยเครดิต จำกัด(มหาชน)



กำลังโหลดความคิดเห็น