เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567 ที่ Doc Club&Pub น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดงานแถลงข่าวจัดมหกรรม Relearn Festival 2024 ว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพราะเด็กและเยาวชนคือบุคลากรในอนาคตของชาติ ขณะที่ครอบครัวเป็นพื้นฐานของการทำให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ การจะอุ้มชูดูแลให้เด็ก 1 คนเติบโตขึ้นมาได้ ต้องได้รับการดูแลจากคนทั้งสังคม ไม่ใช่แค่คนในครอบครัว หรือครูที่โรงเรียนเท่านั้น ต้องวางระบบสนับสนุนให้เด็ก ๆ ของเราไม่ว่าจะเป็นลูกของใครก็ตามมีโอกาสเติบโตเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง สสส.จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน Relearn Festival ครั้งแรกเมื่อปี 2562 เพื่อเป็นเวทีและพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พูดคุยระหว่างพ่อแม่รุ่นใหม่ คนที่ทำงานพัฒนาเด็ก มาเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงดู สร้างทักษะเด็กยุคใหม่ แต่หยุดชะงักไปจากการระบาดของโรคโควิด-19 ปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 2 มีแนวคิดหลักคือ Co-Creating Next Generation หรือร่วมกันสร้างเจนเนอเรชันต่อไป โดยชวนทุกคนมา "Unlearn" และ "Relearn" สิ่งต่าง ๆ ด้วยมุมมองใหม่ ในบรรยากาศสบาย ๆ บนลานสนามหญ้า ณ มิวเซียมสยาม วันที่ 27-28 ม.ค. 2567 และทบทวนไปพร้อม ๆ กันว่า เราจะมีส่วนในการร่วมสร้างพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเติบโตสำหรับเด็ก ครอบครัว และคนรุ่นถัดไปได้อย่างไร
"กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นทั้ง 2 วัน จะช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ของพ่อแม่ ครู และผู้ใหญ่ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูและการศึกษาของเด็ก และสามารถพาเด็ก ๆ มาร่วมงานด้วย เพราะมีกิจกรรมที่เหมาะกับเด็กทุกกลุ่มวัย ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต มีโซนกิจกรรมสำหรับครอบครัวหลายโซน มีเวทีเสวนาจากแขกรับเชิญหลายแวดวง ทั้งวิชาการ ศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ร่วมแลกเปลี่ยนบทบาทและประสบการณ์ เราจะเปิดพื้นที่ระดมสมองว่าจะมีข้อเสนอนโยบายอย่างไร โดยให้สร้างเป็นดอกไม้นโยบายของตัวเอง ซึ่งวันนี้ให้สื่อมวลชนร่วมกันทำดอกไม้นโยบาย เพื่อนำไปร่วมแสดงในงานด้วย โดย สสส.และภาคีเครือข่ายจะรวบรวมดอกไม้นโยบายนี้ ไปเป็นข้อเสนอผ่านเวทีนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เพิ่งมีมติเรื่องการส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเราจะเอาข้อเสนอที่ผ่านการคิดออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การควบคุมกัญชาให้เข้มงวดบริเวณใกล้โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กเปิด-ปิดตามเวลาเลิกงานของพ่อแม่ หรือขยายสิทธิลาคลอด" น.ส.ณัฐยา กล่าว
นางมิรา เวฬุภาค ผู้ก่อตั้ง Mappa กล่าวว่า Mappa ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำงานด้านองค์ความรู้สำหรับพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กแบบ Eco System หรือระบบนิเวศน์รอบตัวเด็กที่ต้องแข็งแรง ซึ่งจะเป็นคอนเซ็ปต์ของงานด้วยที่ว่า "หากดอกไม้ไม่บาน เราไม่แก้ดอกไม้ แก้สภาพแวดล้อม" เปรียบเสมือนเด็กเป็นดอกไม้ สภาพแวดล้อมจะต้องอุดมสมบูรณ์ นโยบายต้องถึง ทั้งเด็ก พ่อแม่ โรงเรียน พื้นที่เรียนรู้ การจัดงานนี้เน้นเรื่องมุมมองที่มีต่อเด็ก ซึ่งจะใช้มุมมองเมื่อ 50 ปีที่แล้วมองเด็กปัจจุบันไม่ได้ ภายในงานมีกิจกรรมหลัก 9 โซน คือ โซน 1A สนามเด็กเล่น มี "นินา-ญารินดา บุนนาค" นักออกแบบสนามเด็กเล่น มาช่วยสนับสนุนจินตนาการเด็ก ส่งเสริมให้เด็กเป็นคนสร้างการเล่น ไม่ใช่เสพการเล่น ซึ่งการสร้างการเล่นจะทำให้เด็กฉลาดขึ้น โซน 2A Art&Craft ให้พ่อแม่และลูกมาทำงาน Art&Craft ด้วยกันกว่า 10 เวิร์กช็อป โซน 3A เปลี่ยนโต๊ะอาหารเป็นมื้ออาหารของการสร้างความสัมพันธ์ จะมีตัวบทสนทนาที่พ่อแม่อินฟลูเอนเซอร์ 12 คน เริ่มต้นบทสนทนากับลูกอย่างไรบนโต๊ะอาหารในครอบครัวหลากหลายรูปแบบ
นางมิรา กล่าวต่อว่า โซน 4A กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พูดถึงการดูแลไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ต้องใช้คนมากกว่าครูกับผู้อำนวยการ โซน 5A Creator ด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว สนับสนุนให้คิดสร้างโชว์ที่มีความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็ก โซน 6A RETHINK our future 30 นโยบายเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน ครอบครัว โดยร่วมกับศูนย์นโยบายคิด for คิดส์ นำมาทำเป็นดอกไม้ 30 สี ให้ทุกคนมาทำดอกไม้และส่งเสียงว่า นโยบายไหนเป็นนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนต้องแก้ไข โซน 7A REMOVE our mask-REFRAME our thought กับ Spectrum ทบทวนการตัดสินคนอื่น เช่น เจ้าหญิงไม่ต้องรอเจ้าชาย เจ้าชายไม่ต้องเข้มแข็ง หมูไม่ใช่เหยื่อ หมาป่าไม่ได้ใจร้าย โดยจะมีงานให้เด็กได้อ่าน หรือสวมบทจริง โซน 8A เวิร์กช็อป Experience Design มีทั้งศิลปะบำบัดให้ผู้เยียวยา หรือผู้อยู่ใกล้เด็กดูแลตัวเอง โซน 9A REFILL our belly พบกับร้านอาหารที่เสิร์ฟบทสนทนาพร้อมกับเมนูแสนอร่อย ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ facebook page: Mappa