เตรียมชง คจร.เคาะสร้างทางเดินเชื่อมต่อ (skywalk) "สายสีเหลืองและแอร์พอร์ตลิงก์" ที่สถานีหัวหมาก ด้าน กทม.เสนอโอน "สายสีเทา-สีเงิน" ให้รฟม.บริหารยกเว้นค่าแรกเข้า สนข.คาดประชุมนัดแรก ก.พ.นี้
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำและกำหนดวาระเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในช่วงเดือน ก.พ. 2567 โดยมีเรื่องที่มีข้อมูลพร้อมพิจารณาแล้ว และมีอีกหลายเรื่องที่ยังอยู่ระหว่างรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งข้อมูล เช่น การก่อสร้างทางเดินเชื่อมต่อ (skywalk) ที่สถานีหัวหมากของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง และสถานีหัวหมากของโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยจะมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบ
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมจะเสนอขอโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ และสายสีเงิน บางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินโครงการแทน ซึ่งขณะนี้ยังรอให้ทาง กทม. ยังไม่ได้จัดส่งข้อมูลมาที่ สนข. รวมถึงแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลฉบับใหม่ หรือ M-MAP 2 ของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา
รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของการก่อสร้าง skywalk เชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่สถานีหัวหมากนั้น ยังมีประเด็นที่ต้องหารือเพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจนก่อน เนื่องจากตำแหน่งสถานีหัวหมากของสายสีเหลือง และสถานีหัวหมากของแอร์พอร์ตเรลลิงก์อยู่ห่างกันกว่า 100 เมตร และต้องข้ามทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ด้วย เบื้องต้นอาจให้ รฟม.ก่อสร้าง
skywalk ข้ามทางรถไฟก่อน ช่วยอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ประชาชน โดยไม่ต้องข้ามทางรถไฟในระดับดิน ส่วนจะทำ skywalk ไปถึงสถานีของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 100 เมตรด้วยเลยหรือไม่ จะต้องหารือร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งการรถไฟฯ เนื่องจากอยู่ในเขตพื้นที่ของการรถไฟฯ และบริษัทเอเชีย เอรา วัน เอกชนผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในฐานะผู้บริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์
ส่วนการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ และสายสีเงินบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ก่อนหน้านี้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.ได้ระบุว่า สาเหตุที่ต้องการจะโอนรถไฟฟ้าสายสีเงินและสายสีเทาให้ รฟม.ดำเนินโครงการแทน เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทา และสายสีเงินมีแนวเส้นทางและจุดตัดเชื่อมต่อหลายจุดกับเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม. เช่น สายสีเทา ตัดสายสีชมพู ที่จุดตัดถนนรามอินทรา และตัดกับสายสีน้ำตาล ถนนเกษตร-นวมินทร์, ตัดสายสีเหลือง ถนนลาดพร้าว และสายสีเทาตัดกับสายสีเขียว ที่แยกบางนา ตัดกับสายสีเหลือง ที่จุดตัดถนนศรีนครินทร์ ดังนั้น หากให้ รฟม.ดำเนินการจะเหมาะสม และสะดวกทั้งเรื่องการกำกับดูแล การบริหารจัดการ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยเฉพาะการยกเว้นเก็บค่าแรกเข้าเมื่อเปลี่ยนถ่ายข้ามระบบ