กทม.เผยแนวคิดเล็งโอน “รถไฟฟ้าสายสีทอง” กรุงธนบุรี - คลองสาน ให้ รฟม.ดูแลอีกสาย เตรียมศึกษารายละเอียดสายนี้เอกชนลงทุนเปิดบริการแล้ว “เคที” จ้าง บีทีเอสวิ่ง มีผู้โดยสาร 5 พันคน/วัน ขาดทุนกว่า 12.6 ล้านบาท/เดือน
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างพิจารณาการโอนโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในกำกับดูแล ของ กทม. ไปให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งนอกจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-พระราม 9-ท่าพระ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เป็นแผนก่อนหน้านี้ แล้ว ล่าสุด มีแนวคิดที่จะเพิ่มอีก โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี - คลองสาน ระยะทาง 1.8 กม. รวมเป็น 3 โครงการ
โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-พระราม 9-ท่าพระ วงเงินลงทุน 29,130 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 48,380 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้อยู่ในแผนที่ กทม.ศึกษาความเหมาะสม รูปแบบการลงทุน และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี - คลองสาน ระยะทาง 1.8 กม. ก่อสร้างและเปิดให้บริการแล้ว เป็นเส้นทาง ที่กทม.ได้มอบให้ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) เป็นผู้ดำเนินการ โดยเคที จ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้เดินรถ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐ เป็นการใช้รายได้ล่วงหน้าจากการให้สิทธิ บจ.สยามพิวรรรธน์ เจ้าของ”โครงการไอคอนสยาม “ใช้พื้นที่โฆษณาบนรถไฟฟ้า วงเงิน 2,000 ล้านบาท มาลงทุนก่อสร้างโครงการและเป็นค่าจ้างเดินรถดังกล่าว
สำหรับกรณีที่จะโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ให้รฟม. นั้น จะต้องพิจารณารายละเอียดหลายเรื่อง เช่น กระบวนการในการโอนไปให้รัฐบาลกลาง เนื่องจากทาง กทม. ได้มอบหมาย บจ.กรุงเทพธนาคม บริหารดูแล ซึ่งเรื่งนี้คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาในเร็วๆนี
รายงานข่าวระบุว่า การจะโอนสายสีทองให้ รฟม. อาจจะมีประเด็นที่ซับซ้อนและยากกว่ารถไฟฟ้าสายสีเงินและสีเทา เนื่องจาก สายสีทองมีส่วนหนึ่งที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และเปิดให้บริการแล้ว จึงมีประเด็นทรัพย์สิน และหนี้สินที่เอกชนลงทุนไปก่อน รวมถึต้นทุน ค่าใช้จ่ายการบบริหารการเดินรถ
ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีทอง มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 5,000 เที่ยว-คนต่อวัน จัดเก็บอัตราค่าโดยสาร 16 บาทตลอดสาย มีรายได้ประมาณ 2.4 ล้านบาทต่อเดือน ทำใหมีผลประกอบการขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 12.6 ล้านบาท