“น้องนมเย็น” รถไฟฟ้าสายสีชมพู ได้ฤกษ์เปิดทดลองเดินรถเสมือนจริง ให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีครบทั้ง 30 สถานี ตั้งแต่ 21 พ.ย.66 ก่อนจะเปิดเชิงพาณิชย์ แบบเก็บค่าโดยสาร ภายใน ธ.ค.66
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล (NBM) ผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี แจ้งกำหนดการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ตลอดเส้นทางครบทั้ง 30 สถานี ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสาร ตั้งแต่วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. จนถึงเวลา 20.00 น. และวันต่อจากนั้น จะเปิดให้ทดลองใช้บริการได้ระหว่างเวลา 06.00 – 20.00 น. ทุกวันต่อเนื่องไป
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่ศูนย์ควบคุมการเดินรถ และเยี่ยมชมสถานีมีนบุรี พร้อมทดลองการออกบัตรโดยสา รผ่านเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ และทดลองใช้บัตรโดยสาร เพื่อเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าผ่านประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC GATE) จากนั้น จะร่วมโดยสารรถไฟฟ้าขบวนพิเศษออกจากสถานีมีนบุรี (PK30) ไปยังสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ซึ่งหลังจากเสร็จกิจกรรมของนายกฯ จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการฟรีตั้งแต่ช่วงบ่าย
นายเศรษฐา ชื่นชมในความร่วมแรงร่วมใจของกระทรวงคมนาคม รฟม. และ NBM ผู้รับสัมปทาน ที่ได้ดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เพื่อเติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนบัดนี้โครงการมีความคืบหน้าเกือบ 100% และมีความพร้อมที่จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการกันแล้ว ซึ่งรัฐบาลมองว่า เป็นโอกาสอันดีที่อยากเชิญชวนให้ประชาชนในแนวสายทาง หรือผู้ที่สัญจรผ่านแนวถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา ไปจนถึงเขตมีนบุรี ได้ลองมาศึกษาแนวเส้นทางและรูปแบบการให้บริการของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ผ่านประสบการณ์ตรงในการทดลองใช้บริการ ได้ทดลองปรับพฤติกรรมในการเดินทาง ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เปลี่ยนมาใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องตามนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลในด้าน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ที่มุ่งยกระดับความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู นับเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายที่สองของประเทศไทย ต่อจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) ที่ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ไปแล้วเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดเด่นในการทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) เช่นเดียวกัน เพราะมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักมากถึง 5 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง), สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา, สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว, สถานีวัชรพล เชื่อมต่อกับโครงรถไฟฟ้าสายสีเทาในอนาคต และสถานีมีนบุรี เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม จึงสามารถขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เข้าสู่รถไฟฟ้าสายหลักที่วิ่งให้บริการในพื้นที่ใจกลางเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในด้านศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจะมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการในระบบและขบวนสำรอง รวมทั้งสิ้น 42 ขบวน
ระยะแรก แต่ละขบวนจะให้บริการด้วยขนาด 4 ตู้ต่อขบวน สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และในอนาคตเมื่อจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นก็สามารถเพิ่มขนาดสูงสุดได้ถึง 7 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง เมื่อให้บริการด้วยความถี่ 2 นาที ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำชับให้ รฟม. ติดตามตรวจสอบการทดลองให้บริการของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู แก่ประชาชนอย่างใกล้ชิด ประเมินความพร้อมของงานและความปลอดภัยต่อผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการในระบบรถไฟฟ้าเป็นหัวใจสำคัญสูงสุด ก่อนที่จะรับรองการเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ให้แก่ผู้รับสัมปทานต่อไป ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินเดือนธันวาคม 2566
โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร ใช้ทางวิ่งยกระดับตลอดสาย รวมทั้งสิ้น 30 สถานี ประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีแคราย สถานีสนามบินน้ำ สถานีสามัคคี สถานีกรมชลประทาน สถานีแยกปากเกร็ด สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด สถานีแจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 28 สถานีศรีรัช สถานีเมืองทองธานี สถานีแจ้งวัฒนะ 14 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีหลักสี่ สถานีราชภัฏพระนคร สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีรามอินทรา 3 สถานีลาดปลาเค้า สถานีรามอินทรา กม.4 สถานีมัยลาภ สถานีวัชรพล สถานีรามอินทรา กม.6 สถานีคู้บอน สถานีรามอินทรา กม.9 สถานีวงแหวนรามอินทรา สถานีนพรัตน์ สถานีบางชัน สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ สถานีตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ในบริเวณเดียวกันนี้ เพื่อรองรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสามารถนำรถมาจอดและเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะทางรางได้โดยสะดวก นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จะเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสามารถเดินทางจากสถานีเมืองทองธานี เข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ผ่านวงแหวนเมืองทองธานี ไปสิ้นสุดปลายทางบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานีได้โดยสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น
ประชาชนที่สนใจทดลองใช้บริการ สามารถกดบัตรโดยสารแบบเที่ยวเดียว (Single Journey Card) ได้ที่ตู้จำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ หรือใช้บัตร Rabbit ในการเดินทางเข้าสู่ระบบ