xs
xsm
sm
md
lg

กทท.โชว์ 2 เดือนเร่งสปีดถมทะเลแหลมฉบังเฟส 3 ตามแผน มั่นใจส่งมอบพื้นที่ GPC พ.ย. 68 เปิดท่า F1 ในปี 70

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทท.ปรับแผนงานจี้ผู้รับเหมาเร่งงานถมทะเล แหลมฉบังระยะที่ 3 สปีดช่วง 2 เดือนทำงานเร็วขึ้นกว่าเท่าตัว มิ.ย. 67 ส่งมอบพื้นที่ให้ กทท.เพื่อปรับความหนาแน่นทรายถมก่อน มั่นใจส่งมอบพื้นที่ให้ GPC ใน พ.ย. 68 เปิดท่า F1 ในปี 70 ตามแผน

วันที่ 8 มกราคม 2567 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) หัวหน้าคณะทำงานติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรี รัฐกร เขียวไพศาล นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการการท่าเรือ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง คณะผู้บริหาร กทท. บริษัทผู้รับเหมาและตัวแทนผู้ควบคุมงาน ร่วมแถลงความคืบหน้าการก่อสร้างเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจ

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวถึงความคืบหน้าส่วนงานก่อสร้างทางทะเลในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2566) โดยเดือนพฤศจิกายน 2566 ตามแผนการปฏิบัติงานปัจจุบัน 1.90% ต่อเดือน ทำได้ 2.08% ต่อเดือน ส่วนเดือนธันวาคม 2566 ตามแผนการปฏิบัติงานปัจจุบัน 1.99% ต่อเดือน ทำได้ 2.00% ต่อเดือน นับเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นที่การก่อสร้างมีความคืบหน้ามากกว่าแผนงานประจำเดือน เนื่องจากเดิมทำได้ประมาณ 0.5% ต่อเดือน โดยจากนี้จะผลักดันให้การทำงานเพิ่มเป็น 3% ต่อเดือน โดยสรุปความคืบหน้าของโครงการฯ ณ เดือนธันวาคม 2566 สามารถดำเนินงานได้แล้วที่ 17.34% ซึ่งล่าช้ากว่าแผนในภาพรวมโครงการอยู่ 1.67% (แผนงาน 19.02%)


อย่างไรก็ตาม ทางกิจการร่วมค้า CNNC ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน บริษัท นทลิน จำกัด และบริษัท จงก่างคอนสตรั๊คชั่นกรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานทางทะเลและที่ปรึกษาควบคุมงานได้ติดตามเร่งรัดดำเนินงานให้แล้วเสร็จเพื่อให้สามารถส่งมอบงานพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 ให้ กทท.ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2567 ตามที่กำหนด โดยหากมีอุปสรรคปัญหาจะสามารถหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อบูรณะแผนและปรับการทำงานให้งานเป็นไปตามเป้าหมายได้

ทั้งนี้ กิจการร่วมค้าฯ ได้นำเครื่องจักรทางน้ำเข้ามาปฏิบัตงานเพิ่มเติมอีกจำนวน 30 ลำ จากเดิมที่มีอยู่แล้วจำนวน 37 ลำ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 67 ลำในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา รวมถึงกิจการร่วมค้าฯ ได้นำบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มเติมอีกจำนวน 120 คน จากเดิมมีบุคลากรจำนวน 400 คน รวมมีบุคลากรปฏิบัติงานทั้งสิ้นจำนวน 520 คน


ผอ.กทท.กล่าวว่า ขณะนี้ กทท.อยู่ระหว่างประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งานส่วนที่ 2 คือ งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค ราคากลาง 7,387.518 ล้านบาท มีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 4 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเสนอ คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเริ่มงานประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. 2567 ซึ่งมีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้าดำเนินการส่วนงานที่ 2 ได้ไม่มีปัญหา

ส่วนประเด็นข้อกำหนดทางเทคนิคของการถมทะเลหรือสเปกค่าความหนาแน่นสัมพัทธ์ของทรายถมที่ไม่ตรงกัน ทำให้ต้องปรับปรุงคุณภาพงานถมทะเลใช้เทคนิค Pre-loading ก่อนส่งมอบพื้นที่ ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วยบริษัทกัลฟ์เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเมนท์จำกัด (มหาชน) บริษัทพีทีทีแทงค์เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัทไชน่าฮาร์เบอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับสัมปทานนั้น นายเกรียงไกรกล่าวว่า ตามแผนปรับปรุงฯ กิจการร่วมค้า CNNC จะต้องส่งมอบพื้นที่ Key Date 3 ให้ กทท.ในเดือน มิ.ย. 2567 ขณะที่ตามสัญญาร่วมทุนฯ กทท.กำหนดส่งมอบพื้นที่ Key Date 3 ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เข้าดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือลานวางตู้อาคารสำนักงานติดตั้งเครื่องมือในเดือน พ.ย. 2568 ซึ่งจะมีเวลากว่า 1 ปี ซึ่งจะทำการปรับปรุงคุณภาพดินให้เป็นไปตามข้อกำหนดได้ทัน โดย กิจการร่วมค้า GPC จะพัฒนาและเปิดให้บริการท่าเรือ F1 ในปี 2570


นอกจากการเร่งรัดการเพิ่มจำนวนเครื่องจักรทางน้ำและบุคลากรแล้ว กทท. ยังได้มีการเร่งรัดให้ผู้รับจ้างนำเรือขุดลอกลำที่เป็นเจ้าของ (Owner) เข้ามาปฏิบัติงานทันที อีกทั้งยังให้ทำการสรุปข้อมูลความคืบหน้ารายวัน รายสัปดาห์ และวางแผนปฏิบัติงานรายวัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน EHIA โดยให้รายงานต่อผู้ควบคุมงานและคณะทำงานติดตามการก่อสร้างของโครงการฯ ซึ่งหากมีปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนในแต่ละวันทางผู้รับจ้างมีหน้าที่เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และแจ้งให้ผู้ควบคุมงานและ กทท.ทราบว่าจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารมช.คมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) หัวหน้าคณะทำงาน เร่งรัดการก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 กล่าวว่า หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้เร่งรัดงานที่มีความล่าช้า คณะทำงานมีการเร่งรัดติดตามการทำงานเป็นรายวัน และรายสัปดาห์ ทำให้การก่อสร้างมีความคืบหน้าเร็วขึ้นโดยมีการเชื่อมโยงการกำกับดูแลในทุกภาคส่วน จนทำให้งานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาทำได้เร็วขึ้นมาก และคาดว่าในเดือนมิถุนายนงานที่ล่าช้าจะกลับมาเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้


รวมถึง กทท.ยังคงเน้นย้ำกำชับติดตามให้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ และผู้ควบคุมงานให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความสอดคล้องต่อเนื่องเพื่อให้สามารถส่งมอบงานตามแผนที่กำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่อไป

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนที่สำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. 47% และเอกชน 53% โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี เพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของ ทลฉ.จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี ช่วยสนับสนุนการลดต้นทุน การขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดค่าขนส่งประมาณ 250,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อมุ่งผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่การค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น