xs
xsm
sm
md
lg

"มนพร"ตรวจคืบหน้าทลฉ.เฟส 3 แผนใหม่เพิ่มเรือขุด-แรงงาน เร่งถมทะเลเร็วขึ้น 3 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"มนพร"ลงพื้นที่ติดตามโครงการ แหลมฉบังเฟส 3 กำชับกทท.เร่งแผนงานถมทะเล ให้เสร็จตามสั่งการนายกรัฐมนตรี ล่าสุด กลุ่ม CNNC เพิ่มเรือขุดและคนงาน ช่วงต.ค.-พ.ย.66 ผลงาน
เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า มั่นใจส่งมอบ
ถมทะเลพื้นที่ E0 ใน 31 ธ.ค.66

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะทำงานฯ เดินทางตรวจราชการการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยทางน้ำช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 พร้อมเข้าร่วมรับฟังความคืบหน้าและติดตามการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยมีนายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่าที่ร้อยตรี รัฐกร เขียวไพศาล นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการการท่าเรือฯ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง คณะผู้บริหาร กทท. คณะผู้บริหารกรมเจ้าท่า หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC ผู้รับจ้างก่อสร้างงานทางทะเลและตัวแทนผู้ควบคุมงาน ให้การต้อนรับ และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน ณ ห้องประชุม สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคพัทยา ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

นางมนพร เจริญศรี รมช.
คมนาคม กล่าวภายหลังรับฟังการรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการฯ โดยกำชับให้ กทท. กลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC และตัวแทนผู้ควบคุมงานเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพราะโครงการนี้ ถือ เป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมเร่งรัดติดตามเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ความพร้อมของท่าเรือในการรองรับความต้องการการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงเพิ่มความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ แม้ภาพรวมของโครงการฯ จะมีทิศทางในที่ดีขึ้น แต่ ยังคงเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดผลสำเร็จที่มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมและติดตามงานที่ดีร่วมกันทั้งจากผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงาน รวมถึง กทท. ด้วย


โดย ผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC ได้รายงานว่า ขณะนี้กลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC และตัวแทนผู้ควบคุมงาน ได้เร่งดำเนินงานกิจกรรมหลักของโครงการฯ และมีความคืบหน้าของงานพื้นที่ก่อสร้างที่กำลังดำเนินการ ประกอบด้วย

1. งานขุดลอกร่องน้ำเดินเรือหลัก งานขุดลอกร่องน้ำเชื่อมต่อร่องน้ำเดินเรือ และงานขุดลอกร่องน้ำเดินเรือชายฝั่ง ปริมาณทั้งสิ้น 57 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันขุดลอกแล้วเสร็จ 12.7 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 23.36%

2. งานถมทรายพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้กับการท่าเรือแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565

3. งานพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 2 ดำเนินการแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้กับการท่าเรือแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566

4. งานพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ E0 ดำเนินการถมทรายแล้วเสร็จ 4.3 ล้านลูกบาศก์เมตร งานคงเหลือเฉพาะในส่วนของการบดอัดทราย คิดเป็นผลงาน 83.86% มั่นใจว่าจะแล้วเสร็จตามแผนปฏิบัติการงานและสามารถส่งมอบได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566

5. งานคันล้อมพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ F1 ทิ้งหิน Toe Rock ล้อมรอบพื้นที่ ประมาณ 5 กิโลเมตรแล้วเสร็จอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพงานให้เป็นไปตามแบบก่อสร้าง คิดเป็นผลงาน 30.68%

6. งานคันล้อมพื้นที่ บ่อเก็บตะกอน ผลงาน 12.08%

7. งานคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเลพื้นที่อนาคต เพิ่งเริ่มดำเนินการในเดือนนี้คิดเป็นผลงาน 0.22%

8. งานก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นหมายเลข 4 บริเวณปากคลองบางละมุงแล้วเสร็จ ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2566


โดยมีแนวทางการบริหารจัดการก่อสร้างเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 5 ข้อ ประกอบด้วย
1. งานขุดลอก เดิมใช้เรือขุดลอกหัวสว่าน 3 ลำ ขุดได้น้อยกว่า 40,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เนื่องจากสภาพดินแข็ง ปัจจุบันใช้ เรือขุดลอกหัวสว่าน 3 ลำ และเพิ่มเรือขุดแบบแกร๊บ (Grab Dredger) 4 ลำ ทำให้ขุดได้วันละ 50,000-75,000 ลูกบาศก์เมตร

2. งานคันล้อมพื้นที่ถมทะเล เดิมมีโป๊ะ 38 ลำ ลำเลียงหินได้วันละ 2,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน ปัจจุบันนำโป๊ะจากจีนเพิ่ม 25 ลำ จากไทย 2 ลำ รวมเป็น 65 ลำ ขนหินได้ มากกว่า 10,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน

3. ทรายแกนกลางคันล้อม เดิมเป็นลักษณะทรายถมตรง แต่ปรับใช้วิธีปั้มอัดทรายเข้าถุง Geotube เพื่อให้ทรายคงรูปได้ดีและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนำปั้มบนเรือขุดขนาดเล็กมาช่วยปั้มอัดทราย 3 ลำ ผลงานอยู่ระหว่างการปรับประสิทธิภาพการทำงาน

4. การเพิ่มบุคลากร เดิมมีคนงาน 400 คน ปัจจุบัน มีคนงาน 520 คน (เพิ่มมาอีก 120 คนเพื่อทำงานกับโป๊ะ 25 ลำ

5. การเพิ่มทีมผู้เชี่ยวชาญ โดยได้นำผู้เชี่ยวชาญชาวจีนด้านงานขุดลอกมาเป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการ (PMC)

จะเห็นว่าผู้รับจ้างฯ สามารถดำเนินการได้มากกว่าแผนการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ และเมื่อสรุปงานในภาพรวมแล้ว ผลการปฏิบัติงานที่ทำได้จริงในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้นกว่าแผน 0.174% โดยมีผลงานการถมทราย วันละประมาณ 80,000 ลูกบาศก์เมตร หรือเดือนละ 2.4 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากผลงานเดิม


ด้านนายเกรียงไกรฯ ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินโครงการฯ ในส่วนของงานถมทะเล มีความคืบหน้าไปมาก อย่างไรก็ตาม กทท. ยังคงเร่งรัดติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด โดยมีแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ที่ได้ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC และตัวแทนผู้ควบคุมงาน ดำเนินการดังนี้

1 .ให้นำแผนการทำงานตามแผนปฏิบัติการในเดือนนั้นๆ มาตั้งเป็นเป้าหมาย เช่นในเดือนธันวาคม 2566 วางแผนงานไว้ 19.022% เพิ่มจากเป้าหมายเดือนพฤศจิกายนที่ตั้งเป้าไว้ 17.036% ที่ 1.986%

2.ในการรายงานจะต้องมีการแยกเนื้องานไปตามกลุ่มของงาน แล้วจึงวางแผนและใส่ผลงานในแต่ละวัน โดยต้องมีการสรุปเป้าหมายและผลงานที่ได้ รายงานต่อผู้ควบคุมงาน และ กทท. ทั้งรายวันและรายสัปดาห์

3. กรณีที่มีปัญหา ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนในแต่ละวัน ทางผู้รับจ้างมีหน้าที่เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และแจ้งให้ผู้ควบคุมงานและ กทท. ทราบว่า จะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร


ทั้งนี้ การดำเนินการให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ จะต้องประกอบด้วยการบริหารจัดการงานที่ดีและมีประสิทธิภาพรวมถึงการควบคุมติดตามงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 7 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นวันส่งมอบงาน พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3




กำลังโหลดความคิดเห็น